เอแบคโพลล์: คนติดตามข่าวการเมืองคิดอย่างไรต่อผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กับบทบาทของนายกรัฐมนตรีหญิงที่ประชาชนอยากได้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า

ข่าวผลสำรวจ Monday July 16, 2012 07:13 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง คนติดตามข่าวการเมืองคิดอย่างไรต่อผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กับบทบาทของนายกรัฐมนตรีหญิงที่ประชาชนอยากได้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า กรณีศึกษาตัวอย่างเฉพาะคนที่ติดตามข่าวการเมืองใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาส นครศรีธรรมราชและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,759 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 13 - 14 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

เมื่อถามถึงความคิดเห็นหลังจากทราบผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ยอมรับ แต่ไม่ถึงกับไปชักชวนคนอื่นให้มาเห็นด้วย ปล่อยให้แต่ละคนคิดกันเอง รองลงมาคือ ร้อยละ 23.3 ยอมรับและชักชวนคนอื่นให้ยอมรับ ในขณะที่ร้อยละ 6.5 ไม่ยอมรับ และจะชักชวนคนอื่นไม่ให้ยอมรับ และร้อยละ 8.8 ไม่ยอมรับ แต่ไม่ไปชักชวนคนอื่น

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 มีความสุขมากถึงมากที่สุดหลังฟังผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย และผลการตัดสินมีเหตุมีผลรับฟังได้ ในขณะที่ร้อยละ 30.9 มีความสุขปานกลาง และร้อยละ 11.9 มีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามประชาชนว่า ประเทศไทยควรเดินไปในทิศทางใดหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 อยากให้เลิกแบ่งสี แบ่งฝ่าย ทุกคนคือคนไทยด้วยกัน รองลงมาคือร้อยละ 72.6 อยากให้คนไทยรักกัน ก้าวสู่ความปรองดอง ร้อยละ 70.4 อยากให้เลิกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ร้อยละ 69.9 อยากให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยรู้บุญคุณกตัญญูต่อแผ่นดินไทย ร้อยละ 67.4 อยากให้ทุกคนรู้สิทธิและหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และร้อยละ 66.4 อยากให้ฝ่ายการเมืองร่วมกันพัฒนาประเทศ เน้นนโยบายสาธารณะมากกว่าแย่งชิงอำนาจกัน

เมื่อพิจารณาผลวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มคนที่อยากให้ฝ่ายการเมืองแข่งขันกันเชิงนโยบายสาธารณะ พบว่า ส่วนใหญ่พอใจต่อท่าทีของนายกรัฐมนตรีต่อประเด็นขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่ได้มองว่านายกรัฐมนตรีลอยตัวเหนือปัญหาขัดแย้งทางการเมือง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่อยากเห็นนายกรัฐมนตรีทำงานเชิงนโยบายแก้ปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชนมากกว่าเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า เช่น กรรมสิทธิ์ของชาวบ้านในที่ทำกิน ผลผลิตทางการเกษตร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น และปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสื่อที่ไม่ปลอดภัย การลดความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน และปัญหายาเสพติดที่ยังคงรุนแรงอยู่ทั่วไปในเวลานี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมือง คือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.9 กังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงบานปลายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ เวลานี้ฝ่ายการเมืองมุ่งแย่งชิงอำนาจกันไม่ฟังเสียงชาวบ้านส่วนใหญ่ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย มุ่งเอาชนะคะคานกัน แต่ละฝ่ายมีเป้าหมายแอบแฝงที่ต้องแก้ให้ได้ มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง จะเอาการแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางผ่านเข้าสู่อำนาจและเอาตัวรอด แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมกัน ไม่สงสารประชาชนและประเทศชาติ ในขณะที่ร้อยละ 42.1 ไม่กังวล

อย่างไรก็ตาม เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.3 สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะเป็นรายมาตรา ในขณะที่ร้อยละ 14.9 สนับสนุนให้แก้ไขทั้งฉบับ แต่เกือบ 1 ใน 3 ไม่สนับสนุนเลย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงเวลาที่อยากให้โอกาสรัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ให้เวลามากกว่า 2 ปี ถึงอยู่ครบเทอมจนหมดวาระ อย่างไรก็ตาม เกินครี่งหรือร้อยละ 52.4 ระบุว่าเวลานี้เหมาะสมแล้วที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 36.9 ระบุเร็วเกินไป แต่ร้อยละ 10.7 ระบุช้าเกินไป

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองภายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองทั่วไปตามรัฐธรรมนูญในการพูดและแสดงออก (Freedom of Speech) ถ้าการพูดหรือแสดงออกเหล่านั้นไม่ปลุกระดมทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชนระดับกว้างทั่วไป ประชาชนคนไทยก็ไม่จำเป็นต้องไปกังวลอะไร โดยนึกเสียว่าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนในสังคม ในกลุ่มนักการเมืองก็ต้องมีแบบนี้ ต้องพูดต้องแอคชั่นต่อสาธารณชนแบบที่เป็นอยู่ มันเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องทำกันเป็นชีวิตและเป็นวิถีทางการทำมาหากินของพวกเขา และที่มักจะสาดวิวาทะกันไปมาก็เพื่อกลยุทธ์ทั้งเปิดเผยและแอบแฝงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบกันในเวทีการเมือง แต่เป้าหมายที่แท้จริงของ “การเมือง” ที่นักการเมืองต้องระลึกไว้ในระบอบประชาธิปไตยคือ ลดความขัดแย้ง สร้างสถาบันหรือองค์ทางการเมืองที่ชาวบ้านพึ่งได้

“แต่ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ บทบาทของนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยที่ผลโพลครั้งนี้ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงให้โอกาสสนับสนุนการทำงาน จึงน่าจะใช้โอกาสนี้เป็นต้นแบบนำร่องสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ เปลี่ยนพฤติกรรมของนักการเมืองและผู้ใหญ่ในสังคม โดยนายกรัฐมนตรีอาจจะหันมาสนใจปัญหาสังคมให้มากขึ้น ใช้บทบาทของสตรีและการมีบุตรคำนึงถึงคุณภาพเด็กและเยาวชนในอนาคตด้านการศึกษา ด้านความปลอดภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และมีชีวิตที่สร้างสรรค์ของพวกเขา” ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้เวลาจัด TV เช้าวันเสาร์ลงสำรวจตลาดคุณภาพเด็กและเยาวชน นักเรียนและ นักศึกษาทั่วไป เช่น แถวสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ สยามสแควร์ สถาบันกวดวิชา มหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือแม้แต่ร้านวิดีโอเกมส์ และลานกีฬาต้านยาเสพติดในชุมชนต่างๆ ลองลงพื้นที่ไปสัมผัสแววตาและน้ำเสียงโดยตรงจากพวกเขาเหล่านั้นตามแหล่งที่พวกเขารวมตัวกันใช้เวลาอยู่ด้วยกัน บางทีนายกรัฐมนตรีอาจจะรับรู้ได้ด้วยตนเองว่ามีช่องว่างที่กว้างมากน้อยเพียงไรระหว่างผู้นำประเทศกับเด็กและเยาวชน” ดร.นพดล กล่าว

“เพราะการให้เด็กๆ ท่องจำได้ว่านายกรัฐมนตรีชื่ออะไร ชื่อนายกรัฐมนตรีสะกดกันอย่างไร คำขวัญวันเด็ก การเปิดทำเนียบให้เด็กได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และแม้การแจกแท็ปเล็ตตามนโยบายรัฐบาลให้พวกเขา ยังไม่ได้ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้นำประเทศกับเด็กและเยาวชนมากนัก เพราะพวกเขากำลังรอคอยผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม มีนโยบายด้านเด็กและเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก ปัญหาบางอย่างมันเกินความสามารถของเด็กๆ จะดูแลป้องกันตัวเองได้ ทั้งในเรื่องสื่ออันตราย สถานบริการรอบรั้วสถาบันการศึกษา ความรุนแรง การค้ามนุษย์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน และปัญหายาเสพติด” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.4 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 3.9 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.5 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน          ค่าร้อยละ
1          ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์                91.3
2          ติดตามบ้างไม่ทุกสัปดาห์                              8.7
          รวมทั้งสิ้น                                       100.0


ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                          ค่าร้อยละ
1          ยอมรับและชักชวนคนอื่นให้ยอมรับ                                 23.3
2          ยอมรับ แต่ไม่ชวนคนอื่นให้มาเห็นด้วย ปล่อยให้แต่ละคนคิดกันเอง          61.4
3          ไม่ยอมรับ และจะชักชวนคนอื่นๆ ไม่ให้ยอมรับ                         6.5
4          ไม่ยอมรับ แต่ไม่ไปชักชวนคนอื่น                                   8.8
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความสุขหลังฟังผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่          ความสุข                     ค่าร้อยละ
1          มากถึงมากที่สุด                     57.2
2          ปานกลาง                         30.9
3          น้อยถึงไม่มีความสุขเลย               11.9
          รวมทั้งสิ้น                         100.0


ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยว่าควรเดินไปในทิศทางใดหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                        ค่าร้อยละ
1          อยากให้เลิกแบ่งสี แบ่งฝ่าย ทุกคนคือคนไทยด้วยกัน                                 72.8
2          อยากให้คนไทยรักกัน ก้าวสู่ความปรองดอง                                       72.6
3          อยากให้เลิกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง                         70.4
4          อยากให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยรู้บุญคุณ กตัญญูต่อแผ่นดินไทย                          69.9
5          อยากให้ทุกคนรู้สิทธิและหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย                                  67.4
6          อยากให้ฝ่ายการเมืองร่วมกันพัฒนาประเทศ เน้นนโยบายสาธารณะมากกว่าแย่งชิงอำนาจกัน    66.4

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งการเมืองจะรุนแรงบานปลายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่          ความกังวลของประชาชน                                                              ค่าร้อยละ
1          กังวลว่าจะรุนแรงบานปลาย เพราะเวลานี้ฝ่ายการเมืองมุ่งแย่งชิงอำนาจกันไม่ฟังเสียงชาวบ้านส่วนใหญ่

ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย มุ่งเอาชนะคะคานกัน แต่ละฝ่ายมีเป้าหมายแอบแฝงที่ต้องแก้ให้ได้

มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง จะเอาการแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางผ่านเข้าสู่อำนาจและเอาตัวรอด

           แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมกัน ไม่สงสารประชาชนและประเทศชาติ                                          57.9
2          ไม่กังวล                                                                                42.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                               100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การสนับสนุนให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
ลำดับที่          การสนับสนุนให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป         ค่าร้อยละ
1          สนับสนุนให้แก้ไขเป็นบางมาตรา                         52.3
2          สนับสนุนให้แก้ไขทั้งฉบับ                               14.9
3          ไม่สนับสนุนเลย                                     32.8
          รวมทั้งสิ้น                                         100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระยะเวลาที่อยากให้โอกาสรัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ลำดับที่          ระยะเวลาที่อยากให้โอกาสในการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน          ค่าร้อยละ
1          ไม่เกินหกเดือน                                                  17.3
2          6 เดือน ถึง 1 ปี                                                10.5
3          1 — 2 ปี                                                      10.8
4          มากกว่า 2 ปี ถึงอยู่ครบเทอมจนหมดวาระ                              61.4
          รวมทั้งสิ้น                                                      100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรีในเวลานี้
ลำดับที่          ความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมตรี          ค่าร้อยละ
1          เหมาะสมแล้ว                                52.4
2          เร็วเกินไป                                  36.9
3          ช้าเกินไป                                   10.7
          รวมทั้งสิ้น                                   100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ