IMD เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกประจำปี 2558

ข่าวต่างประเทศ Friday May 29, 2015 07:21 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

โลซาน, สวิตเซอร์แลนด์--29 พ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ หากพูดถึงอันดับความสามารถในการแข่งขันแล้ว สหรัฐยังคงรั้งตำแหน่งสูงสุด ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียมีคะแนนสูงและต่ำสลับกันไป ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ส่วนมากมีคะแนนตามหลัง โรงเรียนธุรกิจ IMD ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันระดับโลกประจำปี โดยในปีนี้มีประเทศที่เข้าร่วมจัดอันดับทั้งสิ้น 61 ประเทศ ซึ่งศูนย์ IMD World Competitiveness Center จะพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆของแต่ละประเทศในหลายแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆ ศาสตราจารย์อาร์ตูโร บริส (Arturo Bris) ผู้อำนวยการศูนย์ IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า "ผลการวิเคราะห์การจัดอันดับประจำปี 2558 บ่งบอกว่า กลุ่มประเทศที่อยู่แถวหน้ากำลังถอยหลังสู่จุดเริ่มต้น ความสามารถในการผลิตและศักยภาพคือปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน หลายบริษัทเพิ่มความพยายามที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด และสร้างโครงสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งเพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้โดยประสบผลสำเร็จ" ผลการวิเคราะห์: http://www.worldcompetitiveness.com/press พาสเวิร์ด: WCY15results ประเด็นสำคัญของผลการจัดอันดับ สหรัฐอเมริกายังคงครองตำแหน่งผู้นำในการจัดอันดับความสามารถการแข่งขัน เนื่องจากความแข็งแกร่งของประสิทธิภาพทางธุรกิจและการเงิน รวมถึงแรงขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมและประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ตามติดมาด้วยฮ่องกง (2), และสิงคโปร์ (3) ซึ่งแซงหน้าสวิตเซอร์แลนด์ที่หล่นลงมาอยู่อันดับที่ 4 ในปีนี้ ตามมาด้วยแคนาดา (5), นอร์เวย์ (7), เดนมาร์ก (8), สวีเดน (9) และเยอรมนี (10) ที่ยังคงติดอันดับ Top 10 อยู่เช่นเคย ขณะที่ลักเซมเบิร์กเลื่อนขั้นมาอยู่ในลำดับที่ 6 จากอันดับที่ 11 เมื่อปี 2557 ส่วนอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคเอเชียมีขึ้นลงสลับกันไป ได้แก่ มาเลเซีย (จาก 12 ลดลงมาอยู่ลำดับที่ 14), ญี่ปุ่น (จาก 21 ร่วงมาอยู่ลำดับที่ 27), ไทย (จาก 29 ลดลงมาแตะ 30) และอินโดนีเซีย (จาก 37 ร่วงลงแตะ 42) สวนทางกับไต้หวัน (จาก 13 ขยับขึ้นไปแตะลำดับที่ 11), เกาหลีใต้ (ขยับขึ้นจาก 26 มาอยู่ที่ 25) และฟิลิปปินส์ (ขยับขึ้นจาก 42 มาแตะที่ลำดับ 41) สถานการณ์ในรัสเซีย (จาก 38 ร่วงลงมาสู่ลำดับที่ 45) และยูเครน (จาก 49 ร่วงมาอยู่ที่ 60) ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อความสามารถในการแข่งขัน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงและความผันผวนของตลาด นอกจากนี้ อันดับความสามารถการแข่งขันในฝั่งละตินอเมริกาก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน โดยอันดับของชิลีลดลงจาก 31 มาแตะที่ 35, เปรูลดลงจาก 50 มาแตะที่ 54, อาร์เจนติน่าขยับลงจาก 58 มาอยู่ที่ลำดับ 59 และเวเนซูเอลายังคงรั้งท้ายสุดในตาราง ขณะที่โคลัมเบียทรงตัวอยู่ที่ลำดับ 51 ในกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ บราซิล (จากอันดับ 54 ลดลงแตะ 56) และแอฟริกาใต้ (ขยับจาก 52 ลงมาแตะ 53) มีการปรับตัวลงเล็กน้อย ในขณะที่จีน (จาก 23 ขยับขึ้นแตะ 22) และเม็กซิโก (จาก 41 ขยับขึ้นแตะ 39) ต่างปรับตัวดีขึ้น ฝั่งอินเดียยังคงระดับเดิมอยู่ที่ (44) การจัดอันดับครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงปัจจัยหนึ่งที่กลุ่มประเทศที่รั้งอันดับ Top 10 ต่างมีเหมือนกัน นั่นก็คือ 9 ประเทศในรายชื่อ Top 10 นั้นล้วนมีรายชื่ออยู่ใน Top 10 ของปัจจัยด้านประสิทธิภาพทางธุรกิจด้วย ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอันดับประสิทธิภาพทางธุรกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุด (ทะยานจากลำดับที่ 14 มาสู่ลำดับที่ 4) ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากอำนาจการบริหารของประเทศ ขณะที่กาตาร์มีอันดับความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น (จาก 19 มาแตะที่ลำดับ 13) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพทางธุรกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวดีขึ้น (จากลำดับที่ 24 เพิ่มขึ้นแตะ 11) สืบเนื่องมาจากกำลังการผลิตโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น อันดับความสามารถทางการแข่งขันของกรีซฟื้นตัวดีขึ้น (จาก 57 มาแตะที่ 50) เนื่องจากผลงานที่แข็งแกร่งในด้านศักยภาพทางธุรกิจของประเทศ ในขณะที่อันดับความสามารถทางการแข่งขันของเยอรมนีร่วงลง (จาก 6 มาแตะที่ 10) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประสิทธิผลทางธุรกิจของประเทศปรับตัวลดลงอย่างมาก (จาก 9 ลดลงสู่ 16) นอกจากนี้ อันดับความสามารถในการแข่งขันของอินโดนีเซียที่ปรับตัวลดลงก็เป็นผลมาจากการที่ศักยภาพทางธุรกิจของประเทศร่วงลงอย่างหนักด้วยเช่นกัน (ร่วงลงจาก 22 มาแตะที่อันดับ 34) ศูนย์ IMD World Competitiveness Center เป็นองค์กรในเครือของ IMD IMD เป็นสถาบันการศึกษาทางธุรกิจชั้นนำในสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาผู้นำระดับโลกผ่าน หลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้บริหาร ที่ทรงประสิทธิภาพ เอกสารอ้างอิง: รับชมรูปภาพได้ที่ Epa European Pressphoto Agency ( http://www.epa.eu ) และ http://www.presseportal.ch/de/pm/100006390/imd-international ติดต่อ: Matthew Mortellaro โทร. +41-21-618-0352 อีเมล: matthew.mortellaro@imd.org แหล่งข่าว: IMD International
แท็ก เอเชีย   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ