พาณิชย์ จับมือเกษตรลงพื้นที่ พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนม ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคใต้ ติดตามการเตรียมความพร้อมรับเปิดการค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 19, 2018 14:37 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม 2561 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดประชุม สัมมนากับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมในภาคอีสาน ตะวันตก และใต้ ณ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ข้อมูลยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์ปี 2560-2569 และข้อมูลการเปิดตลาดนม และผลิตภัณฑ์ของไทยและประเทศคู่ค้าเพื่อหาทางรับมือและใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมถึงได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มโคนมพบกับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการศูนย์รับน้ำนมดิบกลุ่มกาญจนบุรีพรีเมียมมิลค์ และเกษตรกรที่ปลูกแปลงข้าวโพดเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือค้าเสรีและหารือแนวทางการพัฒนาและปรับตัวรองรับการเปิดเสรี

นางอรมน เปิดเผยว่า ในประชุมเชิงปฏิบัติการมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์มาให้ความรู้กับผู้เข้าร่วม เช่น การพัฒนานวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้านม การลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิต ถอดบทเรียนการเลี้ยงโคนมในประเทศนิวซีแลนด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบุกตลาดต่างประเทศ การใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ฉบับต่างๆ ที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้าในการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูก การส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากการลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าของคู่ค้า มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ และกองทุน FTA ของกระทรวงพาณิชย์ กองทุน FTA และกองทุนพัฒนาสหกรณ์โคนมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น รวมทั้งชี้ให้เห็นประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเปิดตลาดของอาเซียนและจีนโดยภายใต้ FTA โดยไทยได้รับยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรในการส่งออกนมดิบและผลิตภัณฑ์นมไปยังอาเซียน และจีน

สำหรับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ ให้กับไทยแล้วตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่ไทยยังมีมาตรการปกป้อง และโควตาภาษีกับนมและผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยไทยจะต้องยกเลิกมาตรการเหล่านี้และเก็บภาษี 0% สำหรับสินค้า หางนมเวย์ เนย ไขมันเนย เนยแข็ง และนมผงที่มีไขมันเกิน 1.5 % จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 และสำหรับนมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่งและนมผงขาดมันเนย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ในการนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมรับการเปิดเสรีภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลียและไทย-นิวซีแลนด์ โดยให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงวัว นำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตและแปรรูป พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลักดันให้มีการจดเครื่องหมายการค้า ขยายตลาดทั้งในและไปต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศอาเซียนและจีนที่ไม่เก็บภาษีนมและผลิตภัณฑ์จากไทย ตลอดจนผลักดันให้เกิดเครื่องหมายรับรองนมโคสด 100% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และเกษตรกรผู้ผลิตน้ำนมดิบ

ทั้งนี้ ในปี 2560 ไทยผลิตน้ำนมดิบได้ 1.197 ล้านตัน การบริโภคในประเทศอยู่ที่ประมาณ 1.087 ล้านตัน และมีการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ในปี 2560 ปริมาณ 171,990 ตัน มูลค่า 1,449 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบครีม หรือนมผงในรูปของเหลวหรือข้น นมผงขาดมันเนย นมข้นหวาน นมเปรี้ยว โดยส่งออกไปยังตลาดไปเวียดนาม (28%) กัมพูชา (22%) เมียนมา (14%) เป็นต้น ขณะที่ไทยนำเข้านมและผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่ในรูปแบบนมผงขาดมันเนย 605.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนิวซีแลนด์ (48%) ออสเตรเลีย (12%) ฝรั่งเศส (7%) และสหรัฐฯ (6%)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

16 มีนาคม 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ