กรุงเทพโพลล์: “การปฏิรูปการหาเสียงที่ใช้นโยบายประชานิยมสุดโต่ง”

ข่าวผลสำรวจ Thursday February 27, 2014 10:33 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 76.7% เห็นด้วยหากจะตั้งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ที่ใช้หาเสียง 66.7% บอกนักการเมืองไทยในปัจจุบันไม่มีการแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด และ 51.0% ย้ำความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าวมาจากการคอร์รัปชั่น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “การปฏิรูปการหาเสียงที่ใช้นโยบายประชานิยมสุดโต่ง” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 18 – 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า

การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในรอบการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 48.3 ไม่พบเห็นการหาเสียงของพรรคการเมืองในลักษณะประชานิยมแบบสุดโต่ง รองลงมาด้วยสัดส่วนไม่ต่างกันมากคิดเป็นร้อยละ 41.7 บอกว่าพบเห็นการหาเสียงของพรรคการเมืองในลักษณะใช้นโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง

เมื่อถามว่า หากการปฏิรูปเกิดขึ้นจริง สังคมไทยควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ที่ใช้หาเสียง หรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 76.7 เห็นว่าควรมีคณะกรรมการที่มีหน้าที่ดังกล่าว มีเพียงร้อยละ 13.3 ที่เห็นว่าไม่ควรมี และเมื่อถามต่อว่าคณะกรรมการดังกล่าวควรมีอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใด ร้อยละ 48.3 เห็นว่าควรมีหน้าที่ให้คำแนะนำความเป็นไปได้ของนโยบายที่ใช้หาเสียงอย่างเป็นทางการแก่ประชาชนเท่านั้น รองลงมาร้อยละ 40.0 เห็นว่าคณะกรรมการดังกล่าวควรสามารถระงับไม่ให้พรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมสุดโต่งในการหาเสียงได้

สำหรับประเด็นการประเมินความเป็นไปได้ของนโยบายหาเสียง ส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายหาเสียงควรมีลักษณะดังนี้

(1) แหล่งที่มาของเงินทุนต้องมีความชัดเจน และตรวจสอบได้ (ร้อยละ 96.7)

(2) ต้องมีความเป็นไปได้ที่จะทำได้จริงหากได้เป็นรัฐบาล (ร้อยละ 93.3)

(3) ต้องไม่เสนอนโยบายที่จะทำให้ประชาชนมีนิสัยขาดความรับผิดชอบ (ร้อยละ 93.3)

(4) ต้องไม่มีการแทรกแซงจนกลไกราคาไม่สามารถทำงานได้ (ร้อยละ 91.7)

(5) ต้องไม่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ประกอบการ (ร้อยละ 76.7)

(6) รัฐบาลต้องไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าต่างๆ (ร้อยละ 65.0)

(7) ต้องจ่ายเงินผ่านบัญชีของผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายเท่านั้น (ร้อยละ 61.7)

ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ต่อการแสดงความรับผิดชอบของนักการเมืองที่บริหารเศรษฐกิจผิดพลาดว่าในปัจจุบันนี้มีมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 66.7 บอกว่าไม่มีเลย รองลงมาร้อยละ 31.7 บอกว่าแทบไม่มี สุดท้ายเมื่อถามว่า ความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าวมีสาเหตุสำคัญมาจากอะไร

ร้อยละ 51.0 บอกว่ามาจากการทุจริต คอร์รัปชั่น ขาดการตรวจสอบที่เข้มงวด โปร่งใส และเด็ดขาด

ร้อยละ 29.4 บอกว่ามาจากการบริหารงานผิดพลาด การไม่มีความสามารถในการระบายข้าว คณะทำงานไม่มีความเข้าใจในโครงการ ไม่เข้าใจตลาดข้าวไทยและข้าวโลก

ร้อยละ 29.4 บอกว่ามาจากการตั้งราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ฝืนกลไกตลาด

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
         นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. การพบเห็นการหาเสียงของพรรคการเมืองในลักษณะประชานิยมแบบสุดโต่ง ในรอบการเลือกตั้งที่ผ่านมา(2 กุมภาพันธ์ 2557)
          ร้อยละ  48.3          ไม่พบเห็น
          ร้อยละ  41.7          พบเห็น
          ร้อยละ  10.0          ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ

2. หากมีการปฏิรูป  สังคมไทยควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ที่ใช้หาเสียง หรือไม่
          ร้อยละ  76.7          ควรมี
          ร้อยละ  13.3          ไม่ควรมี
          ร้อยละ  10.0          ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ

3. คณะกรรมการที่มีหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ที่ใช้หาเสียง  ควรมีอำนาจหน้าที่เพียงใด
          ร้อยละ  48.3          ควรมีหน้าที่ให้คำแนะนำความเป็นไปได้อย่างเป็นทางการแก่ประชาชนเท่านั้น
          ร้อยละ  40.0          สามารถระงับไม่ให้ใช้นโยบายประชานิยมดังกล่าวในการหาเสียงได้
          ร้อยละ  11.7          ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ

4. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประเมินความเป็นไปได้ของนโยบายหาเสียงในแต่ละประเด็นต่อไปนี้
          การประเมินความเป็นไปได้ของนโยบายหาเสียง               เห็นด้วย        ไม่เห็นด้วย        ไม่แน่ใจ/ไม่ตอบ
แหล่งที่มาของเงินทุนต้องมีความชัดเจน  และตรวจสอบได้                    96.7           1.7              1.6
ต้องมีความเป็นไปได้ที่จะทำได้จริงหากได้เป็นรัฐบาล                        93.3           1.7                5
ต้องไม่เสนอนโยบายที่จะทำให้ประชาชนมีนิสัยขาดความรับผิดชอบ               93.3           3.3              3.4
ต้องไม่มีการแทรกแซงจนกลไกราคาไม่สามารถทำงานได้                     91.7           3.3                5
ต้องไม่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ประกอบการ                               76.7           6.7             16.6
รัฐบาลต้องไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าต่างๆ                            65          13.3             21.7
ต้องจ่ายเงินผ่านบัญชีของผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายเท่านั้น                  61.7           8.3               30

หมายเหตุ : แนวคิดบางข้อมาจากความคิดเห็นของคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

5. ปัจจุบันนี้ นักการเมืองไทยมีการแสดงความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดต่อการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด
          ร้อยละ   0.0            มีมาก
          ร้อยละ   1.6            มีบ้าง
          ร้อยละ  31.7            แทบจะไม่มี
          ร้อยละ  66.7            ไม่มีเลย
          ร้อยละ   0.0            ไม่แน่ใจ

6. ความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าวมีสาเหตุสำคัญมาจากอะไร
          ร้อยละ 51.0          การทุจริต คอร์รัปชั่น  ขาดการตรวจสอบที่เข้มงวด โปร่งใส  และเด็ดขาด
          ร้อยละ 29.4          การบริหารงานผิดพลาด  การไม่มีความสามารถในการระบายข้าว คณะทำงานไม่มีความเข้าใจใน

โครงการ ไม่เข้าใจตลาดข้าวไทยและข้าวโลก

          ร้อยละ 29.4          การตั้งราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดมาก  ฝืนกลไกตลาด
          ร้อยละ 19.6          การมุ่งเอาชนะการหาเสียง มุ่งเอาชนะทางการเมือง การเน้นผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ

ไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างที่ควรจะเป็น

          ร้อยละ 11.8          อื่นๆ คือ ผิดพลาดตั้งแต่หลักการจำนำ/หน่วยงานต่างๆ ของรัฐขาดการประสานงาน/ความโลภของทุนนิยม/

การไม่มีรัฐบาลตัวจริง/การเน้นใช้นโยบายตามแนวคิดของ Keynes ซึ่งปัจจุบันควรมุ่งใช้แนวคิด

New Classical Economics, New Keynes Economics and New Liberal Economics มากกว่า

หมายเหตุ : เป็นข้อคำถามปลายเปิดและมีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 51 คน ซึ่งค่าร้อยละที่แสดงเป็นค่าร้อยละต่อผู้ร่วมแสดงความเห็นในประเด็นนี้เท่านั้น

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ต่อการปฏิรูปการหาเสียงที่ใช้นโยบายประชานิยมสุดโต่ง การมีคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายหาเสียง รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับรู้รับทราบ รวมถึงเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการพัฒนาประเทศต่อไป

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 30 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์เคเคเทรด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง(Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล         :  18 – 26 กุมภาพันธ์ 2557

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ             :  27 กุมภาพันธ์ 2557

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน ร้อยละ ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่

          หน่วยงานภาครัฐ                            23      38.3
          หน่วยงานภาคเอกชน                         24        40
          สถาบันการศึกษา                            13      21.7
                    รวม                           60       100
เพศ
          ชาย                                     34      56.7
          หญิง                                     26      43.3
                    รวม                           60       100
อายุ
          18 ปี – 25 ปี                              1       1.7
          26 ปี – 35 ปี                             23      38.3
          36 ปี – 45 ปี                             20      33.3
          46 ปีขึ้นไป                                15        25
          ไม่เปิดเผย                                 1       1.7
                    รวม                           60       100
การศึกษา
          ปริญญาตรี                                  5       8.3
          ปริญญาโท                                 42        70
          ปริญญาเอก                                13      21.7
                    รวม                           60       100
ประสบการณ์ทำงานรวม
          1-5  ปี                                  12        20
          6-10 ปี                                  15        25
          11-15 ปี                                 10      16.7
          16-20 ปี                                  8      13.3
          ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                           15        25
                    รวม                           60       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ