ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมีนาคม 2559 และเฉลี่ยระยะ 3 เดือนของปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2016 16:18 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 131 รายการ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมีนาคม 2559 ปรับเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (MoM) สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาเหล็กในประเทศปรับสูงขึ้น จากสถานการณ์เหล็กหลายประเภทขาดตลาด เนื่องจากขาดวัตถุดิบในการผลิต บิลเล็ตที่นำเข้าจากจีนไม่เป็นไปตามกำหนด ทำให้ต้องมีการตกลงราคากันใหม่ และปัญหาวัตถุดิบ เช่น เศษเหล็กไม่เพียงพอต่อการผลิตเหล็ก ทำให้ปริมาณเหล็กเข้าสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้ราคาเหล็กสูงขึ้น

1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2559 เท่ากับ 116.7 (ปี 2548 เท่ากับ 100 และเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 116.0)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.6 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งสูงขึ้นตามราคาเหล็ก หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ตามการสูงขึ้นของราคาเหล็กในประเทศ จากสถานการณ์เหล็กหลายประเภทขาดตลาด เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบคือบิลเล็ตในการผลิตเหล็ก ทำให้มีเหล็กสำเร็จรูปเข้าสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบคือเม็ดพลาสติก

2.2 เดือนมีนาคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 4.1 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์ที่ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงตามราคาวงกบประตู-หน้าต่าง และบานหน้าต่าง ที่ปัจจุบันนิยมใช้อลูมิเนียมแทนไม้ หมวดซีเมนต์ ลดลงตามราคาปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์-ผสม ปูนฉาบ เนื่องจากมีปริมาณปูนในสต๊อกมาก ผู้ค้าจำหน่ายได้น้อย มีการแข่งขันสูง หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก จากการลดลงของราคาเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรรณ ที่ได้รับผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกต่ำและปัญหาเหล็กราคาต่ำจากจีนเข้ามาแข่งขันเหล็กในประเทศ ทำให้มีอุปทานส่วนเกินในตลาดสูง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงตามราคาน้ำมันปิโตรเลียม ได้แก่ สายไฟ ท่อร้อยสายไฟ ท่อพีวีซี และยางมะตอย

2.3 เดือนมกราคม-มีนาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 5.1 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์ ที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดดัชนีราคาที่ลดลงมากที่สุด คือหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกต่ำจากอุปทานส่วนเกินสูง ประกอบกับมีเหล็กราคาต่ำจากประเทศจีนเข้ามาแข่งขันเหล็กในประเทศ

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ