ขอความเห็นชอบให้สัตยาบันภาคผนวก 10 แนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ข่าวการเมือง Tuesday October 28, 2014 18:42 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบให้สัตยาบันภาคผนวก 10 แนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการให้สัตยาบันภาคผนวก 10 เงื่อนไขการขนส่งแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) และให้นำภาคผนวก 10 ดังกล่าวเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันต่อไป

2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารเพื่อดำเนินการให้สัตยาบันภาคผนวก 10 ดังกล่าวมีผลผูกพันประเทศไทยต่อไปเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบภาคผนวก 10 ตามข้อ 1 แล้ว

3. อนุมัติให้นำวิธีการอนุญาโตตุลาการมาใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากภาคผนวก 10 เงื่อนไขการขนส่งดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า สาระสำคัญของภาคผนวก 10 ได้กำหนดพันธกรณีเกี่ยวกับการรับขนของระหว่างประเทศทางถนนระหว่างประเทศไทยกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และประเทศไทยได้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. 2556 เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาซึ่งเป็นการรองรับการดำเนินการตามภาคผนวก 10 ดังนั้น ภาคผนวก 10 จึงเข้าข่ายหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบกับประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 5 (The 5th GMS Summit) ระหว่างวันที่ 19 – 20 ธันวาคม 2557 ณ กรุงเทพฯ คค. จึงเร่งผลักดันการดำเนินการให้สัตยาบันภาคผนวก 10 เพื่อที่ไทยจะได้รายงานความคืบหน้าในการให้สัตยาบันภาคผนวกแนบท้ายความตกลง CBTA ต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 5

สาระสำคัญของภาคผนวก 10 มีดังนี้

1. ภาคผนวกนี้ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางถนนด้วยรถเพื่อสินจ้าง

2. ราคาค่าขนส่งให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องการผูกขาดทางการค้าเพื่อหลีกเลี่ยงราคาที่สูงมากหรือต่ำมากเกินควร

3. ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดเพื่อการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของลูกจ้าง ตัวแทน และผู้ขนส่งช่วงที่ ผู้ขนส่งได้ใช้ในการปฏิบัติงานของตน

4. ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในความสูญหายสิ้นเชิง หรือบางส่วน และความเสียหายแห่งของ รวมทั้งการส่งมอบชักช้า ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของไว้และเวลาที่ได้ส่งมอบ

5. การคำนวณค่าสินไหมทดแทนกรณีของสูญหายทั้งหมดหรือบางส่วนหรือของเสียหาย ให้คำนวณโดยอ้างอิงราคาตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือราคาตลาดปัจจุบัน หรือราคาปกติของของ ณ เวลาและสถานที่ที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของไว้

6. จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายจากการส่งมอบชักช้า นอกเหนือจากความเสียหายทางกายภาพซึ่งมีผลต่อมูลค่าของ จะถูกจำกัดไม่เกินราคาค่าขนส่ง

7. ผู้ขนส่งจะหลุดพ้นจากความรับผิด หากผู้ขนส่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าความสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าเกิดจากเหตุสุดวิสัย สภาพผิดปกติแห่งของนั้นเองการกระทำโดยมิชอบหรือความประมาทเลินเล่อของผู้ส่ง/ผู้รับตราส่ง

8. ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในกรณีที่ความสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า เกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขนส่ง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ขนส่งช่วงของผู้ขนส่ง

9. การเรียกร้องเพื่อค่าสินไหมทดแทนจากผู้ขนส่งสำหรับความสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของจะขาดอายุความ เว้นแต่จะได้มีการฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ