การจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา

ข่าวการเมือง Tuesday March 3, 2015 18:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ

1. แนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2558 ดังนี้

1.1 กลุ่มที่ผ่านการตรวจสัญชาติแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 จะได้รับการตรวจลงตรา และได้รับอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557) เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ครบทุกขั้นตอนภายในเวลาที่กำหนด อนุญาตให้ทำงานต่อไปอีก 2 ปีหลังสิ้นสุดการอนุญาต 31 มีนาคม 2559

1.2 กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถือใบอนุญาตทำงานที่ออกให้ ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่ยังไม่ได้เข้ารับการตรวจสัญชาติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ให้มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และขอรับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 1 ปี และได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และอนุญาตทำงานต่อไปอีก 2 ปี ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานพิจาณารูปแบบการดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมสถานที่ในการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเวลาเปิดการดำเนินการของศูนย์บริการจดทะเบียนฯ ในวันที่ 1 เมษายน 2558 และสิ้นสุดการดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2558

1.3 กลุ่มที่ไม่มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ และขออนุญาตทำงานภายใน วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ให้ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม จับกุม และผลักดันส่งกลับ ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 101/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557

1.4 กลุ่มผู้ติดตาม ให้ผู้ติดตามที่อายุไม่เกิน 15 ปี มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่พร้อมกับแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ผู้ติดตามที่มารายงานตัวจะมีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรเช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวตามข้อ 1.1 หรือ 1.2 แล้วแต่กรณี สำหรับผู้ติดตามที่ ไม่มารายงานตัวจะต้องถูกดำเนินการผลักดันพร้อมแรงงานต่างด้าวตามข้อ 1.3

2. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล

2.1 การแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล

ให้มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 (จดทะเบียนปีละ 2 ครั้ง) ทั้งนี้ ให้นายจ้างยื่นแบบแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว และให้นำแรงงานต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และขออนุญาตทำงาน ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และในระหว่างการผ่อนผัน นั้น ให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติ เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และอนุญาตให้ทำงานต่อได้อีก 2 ปี ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานพิจารณารูปแบบการดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศและกฎกระทรวงให้ครอบคลุมการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จัดเตรียมสถานที่ในการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเวลาเปิดดำเนินการของศูนย์บริการจดทะเบียนฯ ในวันที่ 1 เมษายน 2558 และสิ้นสุดการดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2558 สำหรับการจดทะเบียนและการตรวจสัญชาติครั้งต่อไปภายในระยะเวลา 2 ปี ให้คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานพิจารณากำหนดช่วงระยะเวลาในการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และระยะเวลาการดำเนินการต่อไป

2.2 การแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการนำเข้าแรงงานประมงต่างด้าวถูกกฎหมายตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ 7 ขั้นตอน ดังนี้

1) การลงทะเบียนแรงงาน นายจ้าง และรวบรวมความต้องการแรงงานประมง

2) การรับสมัครแรงงานไทยและการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าว

3) การคัดเลือกบริษัทจัดหางานที่ถูกกฎหมายกรณีนำเข้าแรงงานต่างด้าว

4) การนำเข้าแรงงานต่างด้าว สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนสมาชิก หรือนายจ้างประมง ประสานการดำเนินงานกับบริษัทจัดหางาน

5) การดูแลแรงงานประมงก่อนลงเรือ โดยการปฐมนิเทศ ชี้แจงข้อปฏิบัติให้แรงงานทราบ

6) การควบคุมตรวจติดตามเรือประมงและแรงงานบนเรือ

7) การลงโทษ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการได้ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการ

3. การปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา ในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับระยะเวลาการกลับเข้าทำงานใหม่ของแรงงานต่างด้าวหลังทำงานครบกำหนด 4 ปีแล้ว จากเดิมกำหนดไว้ 3 ปี ให้ลดลงเหลือ 30 วัน เพื่อความต่อเนื่องของการทำงานและสอดคล้องกับระยะเวลาการเตรียมการจัดทำเอกสารเพื่อกลับเข้ามาทำงานใหม่ รวมทั้งแรงงานได้กลับไปเพื่อพักผ่อนอยู่กับครอบครัวหลังจากเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ