มาตรการสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ข่าวการเมือง Tuesday July 28, 2015 17:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม [Small and Medium Enterprises (SMEs) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอ

สาระสำคัญของมาตรการสร้างความเข้มแข็งของ SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีดังนี้

1. วัตถุประสงค์

1.1 พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ SMEs ให้เป็นอุตสาหกรรมฐานความรู้ เพื่อให้ประเทศก้าวพ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ลดช่องว่างทางสังคม พัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ ซึ่งจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

1.2 ผลักดันให้ SMEs มีการลงทุนในการทำวิจัย และพัฒนามากขึ้นโดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุน ระหว่างรัฐ : เอกชน เป็นร้อยละ 30 : 70

1.3 กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมได้

1.4 เชื่อมโยง SMEs ให้เข้าถึงองค์ความรู้และทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเฉพาะทาง การบริการของภาครัฐ และแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะบุคลากรและเทคโนโลยีของหน่วยงานในสังกัด วท.

1.5 เป็นกลไกทำงานร่วมกับมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นจำนวน 3 เท่า และมาตรการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในสินค้าและบริการซึ่งเป็นนวัตกรรมไทย

2. กลไกและรูปแบบการดำเนินงาน

2.1 ขยายการทำงานตามมาตรการสร้างความเข้มแข็งของ SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP เดิม) โดย สวทช. ซึ่งดำเนินการอยู่ภายใต้ วท.

2.2 จัดให้มีที่ปรึกษาเทคโนโลยีที่เป็นพนักงานเต็มเวลาทำหน้าที่สนับสนุนและชื่อมโยง SMEs กับผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

2.3 ใช้เครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีของ สวทช. จำนวน 10 เครือข่ายที่มีอยู่แล้วดำเนินการได้ทันที รองรับ SMEs 1,000 ราย ในปีแรก

2.4 ขยายขีดความสามารถเครือข่าย พัฒนาที่ปรึกษาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และเพิ่มจำนวนเครือข่ายให้รองรับ SMEs เฉลี่ย 3,000 ราย/ปี ภายใน 6 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดโครงการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม

2.5 เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญ โดยส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานของ วท. มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยออกไปช่วยวิเคราะห์และแก้ปัญหาทางเทคนิค วิศวกรรม กระบวนการผลิต และวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และยกระดับความรู้ ทักษะของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม

2.6 สร้างความพร้อมให้ SMEs สามารถผลิตสินค้าหรือบริการ นวัตกรรมไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และพัฒนานวัตกรรมไทยไปสู่เชิงพาณิชย์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฏาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ