ขออนุมัติดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา และขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีในการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ

ข่าวการเมือง Wednesday November 4, 2015 15:55 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา และขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีในการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ กษ. โดยกรมชลประทานดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา

2. อนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 กรณีการขอเข้าใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชันที่ 1 เอ จำนวน 21 ไร่ เพื่อให้ กษ. โดยกรมชลประทานเข้าใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา ต่อไป

3. ให้กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ฯ เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนชนิดคอนกรีตบดอัด (Rcc : Roller Compacted Concrete) ปิดกั้นลำน้ำปี้บริเวณบ้านปิน ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีพื้นที่รับน้ำ 570 ตารางกิโลเมตร อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 96 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานบริเวณอำเภอเชียงม่วน 28,000 ไร่ และส่งน้ำให้กับโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาแม่ยม (ฝายแม่ยม) จังหวัดแพร่ในฤดูแล้งได้อีก จำนวน 35,000 ไร่ ตัวเขื่อนเป็นแบบคอนกรีตบดอัด ความยาวเขื่อน 810 เมตร สูง 54 เมตร เก็บกับน้ำที่ระดับ + 320.00 เมตร (รทก.) มีอาคารประกอบ ได้แก่ อาคารระยาบน้ำล้น (Spillway) ชนิดอาคาร Gated Spillway ขนาดบานกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร จำนวน 8 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 1,343 ลูกบาศ์เมตรต่อวินาที อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและอาคารท่อส่งน้ำชนิดอาคาร Block Concrete ขนาดช่องกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร จำนวน 2 ช่อง ช่องที่ 1 มีท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.0 เมตร 1 แถว ปริมาณน้ำผ่านสูงสุด 9.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่องที่ 2 มีท่อส่งน้ำให้ระบบชลประทานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.0 เมตร 1 แถว ปริมาณน้ำผ่านสูงสุด 3.45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบบชลประทาน ท่อส่งน้ำสายใหญ่ความยาวประมาณ 2.6 กิโลเมตร ท่อส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ความยาวประมาณ 24 กิโลเมตร พื้นที่ชลประทานฝั่งซ้ายมีพื้นที่ 8,000 ไร่ ท่อส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาความยาวประมาณ 48.4 กิโลเมตร พื้นที่ชลประทานฝั่งขวามีพื้นที่ 17,000 ไร่ และสามารถส่งน้ำสนับสนุนให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่น้ำยม จังหวัดแพร่ ในฤดูแล้ง จำนวน 35,000 ไร่

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

1) ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 3,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก 25,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลเชียงม่วน ตำบลมาง และตำบลสระ อำภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จำนวน 20 หมู่บ้าน 4,715 ครัวเรือน และในฤดูแล้งสามารถส่งน้ำให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม (ฝายแม่ยม) จังหวัดแพร่ จำนวน 35,000 ไร่ รวม 1,500 ครัวเรือน

2) ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค ปศุสัตว์และอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลเชียงม่วน ตำบลมาง และตำบลสระ อำภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เป็นจำนวน 34 หมู่บ้าน 7,153 ครัวเรือน

3) บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำในเขต อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ลุ่มน้ำยม รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

4) สามารถส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์

5) เป็นแหล่งประมงสำหรับสำหรับเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎร์ได้บริโภคและเป็นรายได้เสริม

6) เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและส่งเสริมการท่องเที่ยว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ