ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทยและสำนักงานตำรวจแห่งสมาพันธรัฐสวิส

ข่าวการเมือง Tuesday January 10, 2017 16:11 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทยและสำนักงานตำรวจแห่งสมาพันธรัฐสวิส ว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการพัฒนาความร่วมมือในกิจการตำรวจ (Memorandum of Understanding between The Royal Thai Police of the Kingdom of Thailand and The Federal Office of Police of the Swiss Confederation on Combating Transnational Crime and Developing Police Cooperation)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง ตช. ประเทศไทยและสำนักงานตำรวจแห่งสมาพันธรัฐสวิส ว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการพัฒนาความร่วมมือในกิจการตำรวจ (Memorandum of Understanding between The Royal Thai Police of the Kingdom of Thailand and The Federal Office of Police of the Swiss Confederation on Combating Transnational Crime and Developing Police Cooperation)

2. อนุมัติให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว

3. อนุมัติให้ ตช. สามารถดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขในภายภาคหน้า โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

สาระสำคัญในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในการให้ความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติตามนโยบายที่ 5 ของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558 – 2564 และเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง ตช. และสำนักงานตำรวจแห่งสมาพันธรัฐสวิสให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. 2000 ข้อ 27 และมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและมีเจตนารมณ์เพื่อวางกรอบความร่วมมือกันระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือในกิจการตำรวจ โดยมีรูปแบบการดำเนินการให้ความร่วมมือ ดังนี้

1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติการ สำหรับวัตถุประสงค์ในการป้องกันอาชญากรรม การบังคับใช้กฎหมายและการวิเคราะห์

2. การประสานการปฏิบัติการ

3. การเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่เครือข่ายความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว

4. ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและการสนับสนุนซึ่งกันและกันผ่านทางเจ้าหน้าที่ประสานงาน และที่ปรึกษาด้านการตรวจสอบเอกสาร

5. การให้ความช่วยเหลือในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถและพัฒนาวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรม

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจ ฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการลงนามของผู้ที่เข้าร่วมและจะยังคงมีผลใช้บังคับจนกว่าจะสิ้นสุดโดยการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เข้าร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนการที่จะถึงระยะเวลาสิ้นสุด และการสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดการใด ๆ ที่ดำเนินการอยู่หรือได้เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนการสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจ ฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มกราคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ