การปรับปรุงแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค

ข่าวการเมือง Tuesday April 4, 2017 18:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ตาม (ร่าง) แนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค (ฉบับปรับปรุง) รวมทั้งเงื่อนไขที่จะไม่กระทบกับการจัดส่วนราชการในภูมิภาคที่กำหนดไว้เดิม และการจัดตั้งหน่วยงานตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อรับผิดชอบงานตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ

สาระสำคัญของการปรับปรุงแนวทาการจัดส่วนราชการในภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาครัฐ

มีขนาดที่เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ลดความซ้ำซ้อนของภารกิจรัฐ เกิดความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณและทรัพยากรทางการบริหาร และยกระดับความเป็นเอกภาพของการบริหารราชการในพื้นที่

โดยแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาคที่ปรับปรุงนั้น จะเน้นหลักการดำเนินบทบาทภารกิจที่จำเป็นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในส่วนที่ราชการส่วนท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติได้ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำเป็น (ร่าง) แนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีกรอบแนวคิดของการพิจารณาจัดส่วนราชการ

ในภูมิภาค 4 ประการ เช่นเดียวกับแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาคตามมติคณะรัฐมนตรี (18 ก.ย. 50) และแนวทางการพิจารณาจัดส่วนราชการในภูมิภาคยังคงแบ่งเป็น 2 ประการ คือ การจัดตั้งหน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลางในภูมิภาค และการจัดตั้งส่วนราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวง ทบวง กรม โดยในแต่ละรูปแบบ จะประกอบด้วย หลักการ แนวทางการพิจารณา รูปแบบ และการดำเนินการ

ทั้งนี้ แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานของราชการส่วนกลางในภูมิภาคจะต้องคำนึงถึงความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการในพื้นที่และความซ้ำซ้อนในเชิงภารกิจของรัฐที่เป็นผลให้เกิดความสิ้นเปลืองในทรัพยากรทางการบริการของรัฐได้ แนวทางนี้จึงอยู่ในฐานของความพยายามที่จะลดจำนวนของหน่วยงานที่เป็นส่วนกลางไปตั้งในภูมิภาคให้ได้ โดยเน้นไปที่ส่วนราชการที่ปรากฏในกฎกระทรวงก่อน สำหรับส่วนราชการที่ไม่ปรากฏในกฎกระทรวงนั้น ควรต้องมีมาตรการที่จะรณรงค์ให้ส่วนราชการงดเว้นหรือเข้มงวดต่อการจัดตั้งหน่วยงานภายในให้คงเฉพาะที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานภาครัฐ และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนโดยรวม และต้องอยู่บน 3 หลักการ ดังนี้

1) หลักการในเชิงภารกิจ คำนึงถึงความซ้ำซ้อนในเชิงภารกิจของรัฐและกระบวนการปฏิบัติงานตามภารกิจนั้น ๆ เช่น ภารกิจงานด้านวิชาการและเทคนิคชั้นสูงที่มีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือกระบวนการปฏิบัติงานที่จำเป็นอื่น ๆ ที่ต้องลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องของการทดลองหรือการเป็นห้องปฏิบัติการวิชาการ

2) หลักการในเชิงระบบและประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน คำนึงถึงความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการในพื้นที่ เพื่อให้มีเอกภาพและศักยภาพในการนำเอานโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

3) หลักการในเชิงโครงสร้าง คำนึงถึงหลักความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรภาครัฐในกำหนดจำนวนหน่วยงานภาครัฐให้เหมาะสมกับภารกิจและปริมาณงาน สำหรับแนวทางการจัดตั้งส่วนราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวง ทบวง กรม ภารกิจที่จะนำมาจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคจะต้องเกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจที่ไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจที่มีการกระจายอำนาจและที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการ ทั้งนี้ การให้บริการดังกล่าวจำเป็นต้องเน้นความรวดเร็ว ฉับไวในการให้บริการแก่ประชาชนโดยตรง การควบคุม ตรวจสอบ กำกับดูแลให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการตามที่กฎหมายกำหนด โดยอยู่บน 3 หลักการ ดังนี้

1) หลักการในเชิงภารกิจ หลักความสัมพันธ์ในเชิงภารกิจภาครัฐ ราชการ ส่วนภูมิภาคจะ ดำเนินภารกิจเกี่ยวกับการบังคับใช้และกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายในพื้นที่และการบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ต้องมิใช่ภารกิจที่ อปท. ดำเนินการอยู่

2) หลักการในเชิงระบบและประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน หลักการบริหารเชิงพื้นที่ที่เน้นการ บูรณาการการทำงานร่วมกันหรือมอบหมายให้หน่วยงานหรือภาคส่วนอื่นดำเนินการแทน

3) หลักการในเชิงโครงสร้าง หลักความคุ้มค่าและความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ โดยมีศูนย์รวมภารกิจหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 เมษายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ