โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย - เมียนมา

ข่าวการเมือง Tuesday January 16, 2018 18:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย – เมียนมา (โครงการฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 – 2560 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ป.ป.ส. รายงานว่า

1. โครงการดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของไทยและเมียนมา ซึ่งมีจุดหมายในการนำแนวทางการพัฒนาทางเลือกตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แก้ไขปัญหาความยากจน ลดพื้นที่ปลูกพืชเสพติด และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็กและจังหวัดเมืองสาดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องดำรงชีพอย่างผิดกฎหมาย ลดปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมอื่น ๆ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยและเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 56 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 13,000 คน ในจังหวัดท่าขี้เหล็กและจังหวัดเมืองสาด

2. โดยผลการดำเนินโครงการฯ ในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556 – 2560) ได้เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1) การพัฒนาด้านสาธารณสุข

2) การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ และ

3) การพัฒนาการศึกษาและศักยภาพของคนในพื้นที่

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการร่วมความร่วมมือโครงการฯ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ณ จังหวัดชลบุรี ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันที่จะยุติโครงการฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กันยายน 2560 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม 1 ปี โดยฝ่ายเมียนมาได้เสนอขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาสนับสนุนโครงการฯ ในพื้นที่ใหม่ของ

เมียนมา จำนวน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่หนองตะยา อำเภอพินเลา จังหวัดตองยี รัฐฉานตอนใต้และพื้นที่กลุ่มบ้านเมืองโก เมืองแฮ และเมืองลิน อำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก

สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของฝ่ายเมียนมา ร่วมกันแล้วเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทางเลือกแก่เมียนมาอย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะประชาชนชาวไทยที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากผลกระทบของปัญหายาเสพติด ปัญหาสาธารณสุข และอาชญากรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่จะลดน้อยลง แต่รวมถึงผลเชิงบวกต่อความร่วมมือในการสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศ และยังเป็นการเสริมสร้างบทบาทนำของประเทศด้านความเชี่ยวชาญและเงินทุนสนับสนุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคอีกด้วย นอกจากการดำเนินการเชิงรุกแล้ว สำนักงาน ป.ป.ส. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้น้อมนำแนวพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาที่ทรงห่วงใยพื้นที่บ้านห้วยส้าน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ภายใต้กลุ่มอิทธิพลยาเสพติดอย่างยาวนาน จึงได้ประทานคำแนะนำให้รัฐบาลเร่งนำการพัฒนาทางเลือกเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ควบคู่ไปกับการปราบปรามในเชิงกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ดังนั้น ป.ป.ส. ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาทางเลือก จำนวน 2 โครงการ โดยเสนอขอความเห็นชอบผ่านคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะที่ 2 เพื่อขอใช้งบประมาณเหลือจ่ายจากงบเงินอุดหนุน หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนโครงการพัฒนาทางเลือกในประเทศเพื่อนบ้าน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำหรับโครงการฯ จำนวน 29,736,000 บาท (เนื่องจากโครงการฯ ได้สิ้นสุดลงก่อนกำหนดเป็นเวลา 1 ปี) โดยรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยแต่ละโครงการมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. โครงการฯ ในพื้นที่หนองตะยา อำเภอพินเลา จังหวัดตองยี รัฐฉานตอนใต้ และพื้นที่ทางตอนเหนือของท่าขี้เหล็ก

(1) เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี

(2) เพื่อลดปัญหายาเสพติด อาชญากรรม แรงงานเถื่อน ผู้อพยพผิดกฎหมายและเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา อย่างมีประสิทธิผล

(3) เพื่อสนับสนุนการทำงานโครงการของรัฐบาลเมียนมา โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในพื้นที่เป้าหมาย

(4) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเป้าหมาย สร้างความมั่งคงทางอาหาร และ ลดปัญหาความยากจน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

(5) เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างมีบูรณาการและรอบด้าน เน้นการมีส่วนร่วมยึดคนเป็นศูนย์กลาง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นได้ต่อไป

(6) เพื่อเสริมบทบาทของไทยในฐานะผู้นำด้านความเชี่ยวชาญและเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค

2. โครงการร้อยใจรักษ์ ตามแนวพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. โดยความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้จัดทำโครงการดังกล่าว

(1) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายตามศาสตร์พระราชาด้วยการสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ เน้นการลดรายจ่ายและสร้างรายได้ในครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีลำดับการพัฒนาให้มีความ “อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

(2) เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ให้มีทักษะ องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และสามารถเข้าถึงและบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสทธิภาพ

(3) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนเป้าหมายต่อปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ

(4) เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาและไว้วางใจของชุมชนเป้าหมายต่อโครงการอันจะนำไปสู่ความร่วมมือในโครงการพัฒนาระยะต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ