การดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งและมลพิษหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 4, 2009 15:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง การดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งและมลพิษหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ปี 2552 แล้วมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. มาตรการเร่งด่วน

1.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ดำเนินการดังนี้

ก. สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ทั้งหมด ทำการเฝ้าระวังและควบคุมไฟป่าอย่างเคร่งครัด

ข. สนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ข้างเคียงเพื่อร่วมเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่า ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในช่วงวิกฤติ

ค.จ้างชาวบ้านในพื้นที่เป็นพนักงานดับไฟป่าเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มการเฝ้าระวังและควบคุมไฟป่าในช่วงวิกฤติ โดยใช้งบประมาณปกติประจำปี พ.ศ. 2552 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ง. เพิ่มมาตรการเข้มงวดกับบุคคลที่เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ให้เขตพื้นที่ป่าและบริเวณติดต่อกัน โดยให้เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่ต้องจุดไฟ และการนำเชื้อเพลิงเข้าพื้นที่

  • กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างเข้มข้นในช่วงวิกฤติสถานการณ์หมอกควัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาชน เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป

1.2 กระทรวงมหาดไทย

  • ให้จังหวัดที่ประสบปัญหาวิกฤติสถานการณ์หมอกควัน ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พิจารณาประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อให้มีการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสถานการณ์หมอกควัน และช่วยให้การทำงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งและมลพิษหมอกควัน เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ให้จังหวัดดำเนินการจ้างงานบัณฑิตตกงานและประชาชนในพื้นที่ โดยจัดตั้งเป็นทีมๆ ละ 9 คนในแต่ละหมุ่บ้านในพื้นที่วิกฤติ จำนวนรวมทั้งสิ้น 36,000 คน และให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกำนันและผู้ใหญ่บ้านเพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังและควบคุมไฟที่เกิดขึ้นในพื้นที่
  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนกำลังพล เช่น เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น ในการควบคุมและดับไฟในพื้นที่ โดยประสานการทำงานกับพนักงานดับไฟป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • กรมการปกครอง แจ้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านให้ควบคุมการเผาในที่โล่งอย่างเคร่งครัดในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะการขอความร่วมมือจากประชาชนในการงดการเผาเศษกิ่งไม้ ใบไม้ เศษวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่เกษตร และขยะมูลฝอยในชุมชน

1.3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรพิจารณาจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อทำฝนหลวงและสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย

1.4 กระทรวงคมนาคม กำชับหน่วยงานรับผิดชอบเส้นทางทางหลวงทุกสายให้ทำการกำจัดวัชพืชบริเวณริมทางหลวงอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงหน้าแล้ง โดยห้ามมิให้กำจัดวัชพืชโดยวิธีจุดไฟเผาโดยเด็ดขาด และหามาตรการป้องกันการเกิดไฟบริเวณริมทางหลวง รวมถึงมาตรการในการดับไฟที่เกิดขึ้น เพื่อลดหมอกควัน ป้องกันอุบัติเหตุทางรถยนต์จากควันไฟที่เกิดขึ้น และป้องกันการลุกลามของไฟไปยังเขตพื้นที่ป่าและบริเวณใกล้เคียง

1.5 กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งประสานไปยังประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขง ได้แก่ สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งในแต่ละประเทศโดยด่วน

1.6 กระทรวงกลาโหม โดย กองทัพบกและกองทัพอากาศ และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนกำลังพลในการเฝ้าระวังและตรวจติดตามจุดเกิดไฟ รวมทั้งให้สนับสนุนกำลังพล อุปกรณ์ และอากาศยานเพื่อดับไฟป่าในกรณีที่ได้รับการร้องขอ

1.7 สำนักนายกรัฐมนตรี

  • กรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนงดการเผาทุกประเภทในช่วงวิกฤติสถานการณ์หมอกควัน
  • สำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขวิกฤติสถานการณ์หมอกควัน

2. มาตรการระยะยาว

2.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • ดำเนินการจัดทำบันทึกความตกลงกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้บรรจุมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งและมลพิษหมอกควันเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวง และจัดสรรงบประมาณประจำปีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว
  • กรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ และรายงานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่อไป สำหรับกรณีมลพิษหมอกควันข้ามแดน ให้ประสานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีตามข้อกำหนดในข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน
  • กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดฝึกอบรมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษา และอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน มีจิตสำนึกในการช่วยควบคุมการเผาในที่โล่งอย่างต่อเนื่อง
  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดฝึกอบรมทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ในการต่อสู้และดับไฟป่า

2.2 กระทรวงมหาดไทย

  • ให้พิจารณาจัดตั้งงบประมาณประจำปีให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการเผาในที่โล่งและมลพิษหมอกควัน โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแผนการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,747 แห่
  • องค์การบริหารส่วนจังหวัด พิจารณาการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ทั้งเขตชุมชน นอกเขตชุมชน และพื้นที่รอยต่อแต่ละจังหวัด โดยกรมควบคุมมลพิษ จะให้การสนับสนุนข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง
  • กลุ่มจังหวัด และจังหวัด กำหนดแผนงานและจัดตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งและมลพิษหมอกควันแบบบูรณาการ พร้อมทั้งกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

2.3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ถือการควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก และมอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการส่งออก และกรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมสนับสนุนการเกษตรปลอดการเผา ส่งเสริมให้เครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาจัดตั้งศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรปลอดการเผา โดยให้การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อให้มีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างจริงจังในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร โดยการบดย่อยเศษกิ่งไม้ใบไม้และหมักทำปุ๋ย เป็นต้น

2.4 สำนักนายกรัฐมนตรี โดย สำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปี 2551 — 2554 เพื่อให้สามารถดำเนินงานควบคุมการเผาในที่โล่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ