รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมของโครงการฝายหัวนา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 28, 2010 14:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมของโครงการฝายหัวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฝายหัวนา โดยอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาโครงการก่อสร้างฝายหัวนาต่อไปจนแล้วเสร็จ ตลอดจนสำรวจข้อมูลและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรมชลประทานถือปฏิบัติอยู่ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนการแก้ไขผลกระทบและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของโครงการต่อไปด้วย

ข้อเท็จจริง

1. ภายหลังจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมจากการก่อสร้างโครงการฝายหัวนา มีการประชุมคณะกรรมการเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนธันวาคม 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 มีการปฏิรูประบบราชการ มีการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในช่วงนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้ถ่ายโอนงานบางส่วนให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อไปดำเนินการต่อ ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งที่ 163/2546 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและทางสังคม โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกรรมการ จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มสมัชชาคนจนได้มายื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีคำสั่งที่ 169/2549 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมจากการก่อสร้างฝายหัวนา แต่คณะกรรมการไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากภารกิจของโครงการโขง-ชี-มูล ตามการถ่ายโอนไม่ชัดเจน จนกระทั่งโครงการโขง-ชี-มูล ทั้งหมดรวมถึงโครงการฝายหัวนาได้ถูกถ่ายโอนให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างสมบูรณ์ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการ บริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 และกรมชลประทานได้ดำเนินการต่อสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 71/2550 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 เพื่อดำเนินการต่อเนื่อง โดยให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และต่อมามีการปรับปรุงคณะกรรมการใหม่ให้เหมาะสมอีกครั้งเพื่อให้เป็นปัจจุบันตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 193/2552 ลงวันที่ 9 เมษายน 2552

การดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจากการก่อสร้างฝายหัวนา กรมชลประทานและคณะกรรมการศึกษาผลกระทบฯที่ได้รับแต่งตั้ง ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องสรุปได้ ดังนี้

1) คณะกรรมการศึกษาผลกระทบฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบจำนวน 1 ชุด เพื่อช่วยอำนวยการและประสานการศึกษาให้มีประสิทธิภาพระหว่างกรมชลประทาน ภาคประชาชน และคณะกรรมการ

2) กรมชลประทาน ภาคประชาชน และคณะอนุกรรมการ ได้ร่วมกันจัดทำขอบเขตการศึกษา (TOR) ในลักษณะบูรณาการ ที่มีความเห็นร่วมกันอย่างสมานฉันท์

3) คณะกรรมการได้เห็นชอบขอบเขตการศึกษา (TOR) รวมทั้งประสานงานให้ที่ปรึกษาที่เป็นสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสุรนารี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกันศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมโครงการฝายหัวนา และมอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาให้เป็นไปตามระเบียบกำหนด

4) กรมชลประทานโดยสำนักงานชลประทานที่ 8 แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาและคณะกรรมการกำกับที่ปรึกษาด้านวิชาการ และดำเนินการจนสามารถลงนามในสัญญาว่าจ้างที่ สชป.8/จ.4/2550 ลงวันที่ 10 กันยายน 2550 ระยะเวลาการศึกษา 450 วัน

5) การดำเนินการร่วมของที่ปรึกษา 3 สถาบัน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลทางวิชาการเบื้องต้นโดยคณะกรรมการกำกับที่ปรึกษาด้านวิชาการ ของกรมชลประทาน ร่วมกับคณะอนุกรรมการการศึกษาฯ (ชุดกระทรวงฯ) การดำเนินการกำกับดูแลเป็นไปแบบคู่ขนานบูรณาการ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

6) มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะ ได้ดำเนินการศึกษาจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552

7) คณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมโครงการฝายหัวนา มีมติเห็นชอบในหลักการต่อรายงานการศึกษา เมื่อวันที่26 สิงหาคม 2552 โดยให้ปรับปรุงรายงานสรุปผู้บริหาร พร้อมทั้งจัดทำคำชี้แจงเพิ่มเติมต่อข้อคิดเห็น

8) กรมชลประทานและคณะอนุกรรมการ ได้ประสานภาคประชาชนประชุมเพื่อพิจารณาสรุปคำชี้แจงและข้อกังวลต่างๆ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552

9) กรมชลประทานพิจารณาสรุปผลการศึกษาฯ เสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการต่อไป

2. สถานะปัจจุบันของโครงการฝายหัวนา

บริเวณหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น

2.1 ตัวฝาย เป็นการก่อสร้างลักษณะเขื่อนทดน้ำและระบายน้ำบนช่องลัด ประกอบด้วยฐานฝายคอนกรีตพร้อมติดตั้งประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง จำนวน 14 บาน การก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้ขุดเปิดทำนบดินด้านหน้าและท้ายฝาย ทำให้น้ำจากลำน้ำมูลยังไม่สามารถผันผ่านประตูระบายน้ำได้

2.2 ทำนบดินปิดกั้นลำน้ำเดิม ดำเนินการแล้วเฉพาะงานปรับปรุงฐานราก และถมบดอัดแน่นบริเวณฐานยัน ทั้งสองฝั่ง งานที่คงเหลือได้แก่ การถมดินบดอัดแน่นช่วงลำน้ำเดิมยาวประมาณ 300 เมตร ต่อจากทำนบดินทางฝั่งขวามีถนนเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 266 ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ต้องมีการปรับปรุง

2.3 อาคารประกอบ

  • อาคารควบคุมบานระบาย ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงเนื่องจากไม่ได้ใช้งานมานาน
  • ถนนเข้าหัวงานและภายในบริเวณหัวงาน งานล้อมรั้วปรับปรุงภูมิทัศน์ ป้อมยามและป้ายโครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จเฉพาะถนนภายในบริเวณหัวงาน ส่วนถนนเข้าหัวงาน ป้อมยาม ป้ายโครงการ งานล้อมรั้วปรับปรุงภูมิทัศน์ ยังไม่ดำเนินการ แต่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพื่อเป็นการส่งเสริมการพักผ่อนหย่อนใจ และการท่องเที่ยวต่อไป

2.4 คันกั้นน้ำ

มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำ ไว้แล้วเป็นช่วงๆ ทั้งสองฝั่งลำน้ำมูลจำนวน 19 แห่ง รวมความยาว 41.84 กิโลเมตร มีระดับหลังคันอยู่ที่ +117.00 เมตร.รทก.พร้อมอาคารประกอบที่จำเป็นสภาพปัจจุบันมีผิวจราจร บางช่วงคันกั้นน้ำขาด และประตูควบคุมระดับน้ำชำรุดหลายแห่ง จำเป็นต้องทำการปรับปรุง

2.5 ระบบชลประทาน

มีการก่อสร้างระบบชลประทานเป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตความยาวรวม 89.94 กิโลเมตร โดยระบบสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำหลัก 2 สถานี ได้แก่ สถานีสูบน้ำ PL3 และสถานีสูบน้ำ PL8 เครื่องสูบน้ำรวม 8 เครื่อง มีอัตราการสูบน้ำ 12.5 ลบ.ม./วินาที ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานรวม 77,300 ไร่ การบริหารจัดการน้ำยังมีปัญหา ดังนี้

  • เนื่องจากการสูบน้ำทำได้เมื่อระดับน้ำในลำน้ำไม่น้อยกว่า +110.00 เมตร (รทก.) ขณะที่ระดับน้ำมูลปกติ ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงและราษฎรต้องการความช่วยเหลือ ระดับจะอยู่ที่ +109.00 เมตร (รทก.) จึงยังไม่สามารถช่วยเหลือราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระบบส่งน้ำของสถานีสูบน้ำ PL3 คลองส่งน้ำ 1L-PL3 ช่วง กม.1+065 ถึง กม.1+820 ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำและช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ประมาณ 24,000 ไร่ ซึ่งก่อสร้างระบบส่งน้ำไว้แล้ว ทำให้ระบบส่งน้ำช่วงดังกล่าวขาดการดูแลรักษาและการมีส่วนร่วมจากราษฎร สภาพคลองและอาคารหลายแห่งชำรุดจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง

3. คณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมโครงการฝายหัวนาได้มีมติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ดังนี้

3.1 ให้กำหนดระดับเก็บกักน้ำปรกติไว้ที่ +112 เมตร.รทก.และกำหนดระดับเก็บกักน้ำปรกติสูงสุดที่ +114 เมตร.รทก. (ตามผลการศึกษาเดิม) โดยการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้พิจารณาจ่ายค่าชดเชยที่ระดับ +114 เมตร.รทก.

3.2 การช่วยเหลือในกรณีฤดูน้ำหลากบางช่วงเวลาหรือเกิดภัยพิบัติมีน้ำท่วมเกินขอบเขตกำหนด ให้นำระเบียบหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเป็นกรอบดำเนินการช่วยเหลือ

3.3 เห็นชอบในหลักการต่อรายงานการศึกษาและให้ปรับปรุงรายงานสรุปผู้บริหาร รวมทั้งจัดทำคำชี้แจงเพิ่มเติมต่อข้อคิดเห็นของคณะกรรมการเป็นรายงานต่างหาก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ