คปภ. เผยรายงานช่องทางการขายประกันภัยยอดนิยม ประจำไตรมาส 2/2557

ข่าวทั่วไป Friday September 19, 2014 14:59 —คปภ.

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย ตัวเลขการรับประกันภัยจำแนกตามช่องทางการจำหน่าย ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2557 มีการขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านช่องทางต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 50,638,372 กรมธรรม์ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 355,605 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.51 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากประชาชนมีความตื่นตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภัยธรรมชาติ และสถานการณ์ทางการเมือง จึงทำให้ตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัยมากขึ้น

โดยแบ่งเป็น ช่องทางการขายประกันวินาศภัย ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การขายผ่าน “นายหน้า” โดยมีเบี้ยรับทั้งสิ้น 57,742 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.77 ของเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.60 โดยบริษัทประกันวินาศภัยที่มีสัดส่วนทางการตลาดสูงสุดได้แก่ 1. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ รองลงมาได้แก่การขายผ่าน “ตัวแทน” มีเบี้ยรับจำนวน ทั้งสิ้น 15,245 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 14.99 ของเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.34 ตามมาด้วยการขายผ่าน “ธนาคาร” (Bancassurance) มีเบี้ยรับทั้งสิ้น 12,795 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.58 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.70 ในขณะที่การขายผ่านทาง“องค์กร” มีเบี้ยรับจำนวน ทั้งสิ้น 4,177 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.11 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.13 ส่วนช่องทางการขายประกันวินาศภัยที่มีการเติบโตโดดเด่นที่สุด ได้แก่ การขายผ่าน “อินเตอร์เน็ต” มีเบี้ยรับทั้งสิ้น 1,274 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.25 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในอัตราเร่งที่ ร้อยละ 867.43

ในขณะที่ ช่องทางการขายประกันชีวิต ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ การขายผ่าน “ตัวแทน” โดยมีเบี้ยรับทั้งสิ้น 119,441 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.04 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.66 โดยบริษัทประกันชีวิตที่มีสัดส่วนทางการตลาดสูงสุดได้แก่ 1. บริษัท เอไอเอ ประเทศไทย จำกัด 2. บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ รองลงมาได้แก่การขายผ่าน “ธนาคาร” (Bancassurance) มีเบี้ยรับจำนวน ทั้งสิ้น 113,722 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.74 ขยายตัวอย่างโดดเด่นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.52 ตามมาด้วยการขายผ่าน “โทรศัพท์” มีเบี้ยรับทั้งสิ้น 6,411 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.58 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.07 และการขายผ่าน “ช่องทางอื่นๆ” มีเบี้ยรับจำนวน ทั้งสิ้น 5,056 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.03 ขยายตัวอย่างได้ดีจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 31.76

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางการจำหน่วยกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยได้อย่างเพียงพอ และทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัยสำหรับรายย่อย ซึ่งมีราคาถูก มีความคุ้มครองที่ไม่ซับซ้อน สามารถหาซื้อได้ง่าย ทั้งผ่านทางไปรษณีย์ ธนาคาร และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้ประชาขนผู้มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง รายละเอียด และข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับความต้องการมากที่สุด

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ