“คปภ. จับมือ กสทช.” เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หวังอุดช่องว่างกฎหมายในการกำกับดูแลระบบประกันภัยในยุคดิจิตอล

ข่าวทั่วไป Tuesday June 28, 2016 13:57 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจโลกที่มีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าด้วยกันอย่างก้าวกระโดด โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยมากยิ่งขึ้นและที่กำลังกล่าวขานกันอยู่ในเวลานี้ก็คือระบบ ฟินเทค หรือ ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (Financial Technology) ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกรรมต่างๆในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน การทำประกันภัย การฝากถอนเงิน ฉัน้ยืมเงิน การซื้อขายสินค้า ซื้อขายหลักทรัพย์ การระดมทุน ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ท้าทายศักยภาพของภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งจะต้องเร่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการเพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วย

ในขณะเดียวกันพัฒนาการทางด้านประกันภัยในยุคดิจิตอลก็มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีการทำธุรกรรมและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านทางช่องทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ภาคพื้นดิน ทีวีดิจิทัลเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาในยุคดิจิตอลจะมีแนวโน้มเป็นลักษณะผสมรวม (bundled) เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตพ่วงกับแพคเกจมือถือแบบเติมเงิน เป็นต้น ทำให้การกำกับดูแลจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะขณะที่ คปภ.กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีภารกิจส่วนหนึ่งในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม แต่ธุรกิจทั้งสองส่วนในปัจจุบันและในอนาคตกลับเชื่อมโยงกันทำให้ กฎ กติกา ของเดิมซึ่งถูกพัฒนาให้องค์กรกำกับดูแลแต่ละองค์กรต่างฝ่ายต่างกำกับดูแลจึงไม่เพียงพอและอาจเกิดช่องว่างในการกำกับดูแลได้ จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือในลักษณะ cross-sectoral coordination เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเกิดประสิทธิภาพและป้องกันมิให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการจุดประกายความจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือจนมาสู่การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสำนักงาน คปภ.กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

สำหรับบันทึก MOU ฉบับนี้จะเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานผ่านโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น มีการศึกษาและวิจัยด้านการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแนวทางในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและกิจการประกันภัยให้ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญต่างๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้บริการดังกล่าวข้างต้นมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ มั่นคง ปลอดภัย มีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเพียงพอและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการเพื่อการกำกับดูแลการให้บริการในกิจการโทรคมนาคมและบริการประกันภัยที่ใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมและเทคโนโลยีอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความร่วมมือในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมอื่นๆ อันเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายและก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติ

“จากประสบการณ์ที่ผมเคยเป็น บอร์ดกสทช.ด้านกฎหมายและกำกับดูแลในด้านโทรคมนาคม เมื่อเข้ามากำกับดูแลด้านธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิตอลที่ สำนักงานคปภ. ก็พบว่าขณะที่ธุรกิจต่างๆในยุคดิจิตอลและ ฟินเทคกำลังหลอมรวมและเชื่อมเข้าหากัน แต่หน่วยงานกำกับดูแลแต่ละแห่งที่อยู่คนละสาขายังคงกำกับดูแลโดยใช้กฎหมายและกติกาต่างฉบับกัน ซึ่งอาจไม่ก้าวทันปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิตอลและอาจทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบได้ สำหรับวิธีแก้ไขปัญหาในระยะยาวคือการพัฒนากฎหมายเพื่อเชื่อมการกำกับดูแลในระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง แต่พัฒนาการดังกล่าวจะต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งหากมัวแต่รอก็อาจไม่ทันการณ์ที่จะป้องกันมิให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบได้ จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมทั้งการปรับปรุงกฎกติกาเพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยยุคดิจิตอลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางสากลที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ” ดร.สุทธิพล กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ