เลขาธิการ คปภ. เผยช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2561 ประกันภัยจ่ายแล้วค่าสินไหมทดแทน“เจ็บ-ตาย-ทรัพย์สิน”กว่า 200 ล้าน ! Platform รายงานข้อมูลอุบัติภัยสุดเจ๋ง ! ช่วย บ.ประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างทันท่วงที

ข่าวทั่วไป Friday January 12, 2018 14:53 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีการใช้รถใช้ถนนเพื่อเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ทั้งนี้จากการรายงานของสำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ที่รายงานข้อมูลอุบัติเหตุรายใหญ่ ช่วง 7 วันอันตรายระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2560 – 3 มกราคม 2561 เกิดอุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น 4,423 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 421 ราย บาดเจ็บ 4,745 ราย และมีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นตามประกันภัยรถภาคบังคับเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าปลงศพไปแล้ว 2,361 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 156,769,500 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินไปแล้วจำนวน 968 รายการ คิดเป็นจำนวนเงิน 52,107,410 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนจำนวนทั้งสิ้น 208,876,910 บาท ทั้งนี้จากจำนวนการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวสามารถแบ่งเป็นอุบัติเหตุรายใหญ่ 10 ครั้ง แยกเป็นอุบัติเหตุจากรถจำนวน 9 ครั้ง และอัคคีภัย 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 180 ราย ซึ่งได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งสิ้น 25,399,500 บาท

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการรายงานอุบัติเหตุตามที่ สำนักงาน คปภ. ทั้ง 9 ภาค ทั่วประเทศรายงานเข้ามา จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ พื้นที่ของ สำนักงาน คปภ. ภาค 6 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดระยอง จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรปราการ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 827 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 59 ราย บาดเจ็บ 1,129 ราย ซึ่งมีการเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทนไปแล้ว โดยแบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพจำนวน 991 ราย มูลค่า 35,725,000 บาท จ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นทรัพย์สินไปแล้ว 190 ราย มูลค่า 7,110,100 บาท ตามมาด้วยพื้นที่ สำนักงาน คปภ. ภาค 1 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดตาก มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 763 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 771 ราย ซึ่งมีการเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทนไปแล้ว แบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพ จำนวน 436 ราย มูลค่า 24,488,000 บาท จ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นทรัพย์สินไปแล้ว 94 ราย มูลค่า 24,766,320 บาท และพื้นที่ สำนักงาน คปภ. ภาค 9 ประกอบด้วยจังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดพัทลุง จังหวัดยะลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสตูล มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 546 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 571 ราย ซึ่งมีการเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทนไปแล้ว แบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพจำนวน 307 ราย มูลค่า 18,075,000 บาท จ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นทรัพย์สินไปแล้ว 316 ราย มูลค่า 6,444,690 บาท

สำหรับสถิติการให้บริการสายด่วน คปภ. 1186 ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วง 7 วันอันตรายมีประชาชนโทรศัพท์มาขอรับคำแนะนำรวมถึงปรึกษาหารือด้านการประกันภัยทั้งสิ้น 584 สาย โดยประเด็นข้อหารือที่มีประชาชนสอบถามเข้ามามากที่สุด 5 อันดับประกอบด้วย เงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 105 สาย ตรวจสอบข้อมูลการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ 91 สาย เงื่อนไขความคุ้มครองประกันภัยสำหรับรายย่อย ทั้งประกันภัย 100 ประกันภัย 200 และประกันภัย 222 จำนวน 65 สาย เงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ จำนวน 58 สาย และต้องการร้องเรียน จำนวน 54 สาย

“จากการที่สำนักงาน คปภ. ได้นำเอาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรายงานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ในรูปแบบของ Platform ปีนี้เป็นครั้งแรก โดยนับได้ว่าประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือทั้งในส่วนของบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต และสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีความสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อกำกับให้บริษัทประกันภัยรายงานกรณีเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ รวมถึงติดตามเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ และผู้เสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งในลำดับต่อไป สำนักงาน คปภ. ก็จะมีการตั้งทีมเพื่อติดตามเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2561 ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว และที่สำคัญที่สุดขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมา ณ โอกาสนี้ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าในจำนวนผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ มีหลายรายที่ไม่ได้มีการทำประกันภัยไว้ ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนให้ความสำคัญต่อการทำประกันภัยเพื่อที่ระบบประกันภัยจะเข้าไปบริหารความเสี่ยงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างครบวงจร” เลขาธิการกล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ