เก็บตกจากต่างแดน: รู้ลึกพฤติกรรมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของชาวเวียดนาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 26, 2014 13:37 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

หากจะกล่าวถึงตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอาเซียน เวียดนาม เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 93.4 ล้านคน (สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) อีกทั้งเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6 ในปี 2557 และขยายตัวดีต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6.4 ต่อปีในช่วงปี 2558-2562 ซึ่งจะเกื้อหนุนให้กำลังซื้อของชาวเวียดนามเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per head) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,320 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จาก 2,060 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 นอกจากนี้ยังมีชาวเวียดนามอีกไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน ที่อาศัยและทำงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ที่มักส่งเงินกลับมาให้ญาติพี่น้องในเวียดนามนับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญให้ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีกำลังซื้อสูงขึ้น จนมีเงินเหลือพอสำหรับซื้ออัญมณีและเครื่องประดับทั้งเพื่อสวมใส่และเพื่อการออม

สำหรับข้อมูลเบื้องต้นในด้านพฤติกรรมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของชาวเวียดนาม ช่องทางจำหน่ายและกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของเวียดนามมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

กลุ่มผู้บริโภคสำคัญและรสนิยมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ

กลุ่มผู้บริโภคสำคัญ คือ กลุ่มคนวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) มีสัดส่วนร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนสูงถึงราว 65 ล้านคน ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และพร้อมที่จะทดลองสินค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรหนุ่มสาวที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-24 ปี) ซึ่งมีจำนวนราว 1 ใน 4 ของประชากรวัยทำงานทั้งหมด เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้มักซึมซับวัฒนธรรมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับตามเทรนด์แฟชั่นโลกได้รวดเร็ว ผ่านสื่อโทรทัศน์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ และพร้อมเปิดกว้างที่จะทดลองใช้สินค้านำเข้าได้ง่ายกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ทำให้เครื่องประดับส่งออกของไทยที่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพ มีดีไซน์สวยงามตามสมัยนิยม ชิ้นงานมีความประณีต และมีราคาสมเหตุสมผลมีโอกาสเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มคนวัยทำงานในเวียดนามส่วนใหญ่มักเข้าทำงานและอาศัยในเมืองสำคัญ โดยเฉพาะกรุงฮานอย (เมืองหลวงของเวียดนามและศูนย์กลางการค้าทางภาคเหนือ) นครโฮจิมินห์ (ศูนย์กลางธุรกิจ การค้าและบริการทางภาคใต้) และจังหวัดดานัง (ศูนย์กลางธุรกิจ การท่องเที่ยวและท่าเรือสำคัญทางภาคกลาง)

รสนิยมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของชาวเวียดนาม จำแนกตามภูมิภาคได้ดังนี้
  • ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีวิถีการดำเนินชีวิตเรียบง่าย พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าค่อนข้างอนุรักษ์นิยม มักเลือกซื้อเครื่องประดับทองที่มีความบริสุทธิ์ไม่มากนักและออกแบบโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความคงทนของตัวเรือนมากกว่าความสวยงาม ขณะที่เครื่องประดับทองที่แกะสลักลายดั้งเดิมที่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะเครื่องประดับทองที่ตัวเรือนแกะสลักลายดอกกุหลาบ ดอกบัว ใบไม้ หรือผลไม้ เพื่อใช้สวมใส่และเพื่อการออมไว้เป็นสมบัติให้ลูกหลาน ทั้งนี้ ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมซื้อเครื่องประดับที่ประดับด้วยพลอยมากกว่าเพชร เพราะมีราคาถูกกว่า
  • ชาวเวียดนามที่อาศัยทางตอนใต้ของประเทศ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าชาวเวียดนามในพื้นที่อื่นๆ มักเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก ดีไซน์ทันสมัยสะดุดตาตามสไตล์ตะวันตก โดยเฉพาะเครื่องประดับที่ตัวเรือนทำด้วยทองคำขาวประดับเพชร นอกจากนี้ เครื่องประดับกึ่งสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้ตกแต่งอัญมณีบริเวณหัวแหวนยังเป็นที่ต้องการอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มชาวเวียดนามที่มีรายได้สูงและมีรสนิยมเฉพาะตัวที่ต้องการเลือกซื้อเพชรหรือพลอยน้ำงามมาประดับเอง เพื่อบ่งบอกฐานะทางสังคม

ทั้งนี้ ชาวเวียดนามนิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงวันเต็ด (Tet) ซึ่งเป็นวันปีใหม่ของชาวเวียดนาม (ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์) งานมงคลสมรส (นิยมจัดช่วงฤดูหนาว) และงานวันเกิด

ช่องทางจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ
  • ย่านการค้า ชาวเวียดนามที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนักนิยมเลือกซื้อเครื่องประดับในย่านการค้าสำคัญ คือ ย่านการค้า Old Quarter ในกรุงฮานอย บริเวณถนน Hang Bac เน้นจำหน่ายเครื่องประดับเงินเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีร้านจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับบริเวณทะเลสาบ Hoan Kiem Lake (ทะเลสาบน้ำจืดและสวนสาธารณะใจกลางกรุงฮานอย) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Hanoi Gold-Silver and Gemstone Branch ขณะที่ย่านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญในนครโฮจิมินห์ คือ ตลาด Ben Thanh เน้นจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับที่ออกแบบเรียบง่ายและชิ้นงานมีขนาดเล็ก การติดต่อหาคู่ค้าทางธุรกิจที่มีช่องทางจำหน่ายในย่านการค้าสำคัญจะมีส่วนช่วยขยายตลาดสินค้าดังกล่าวถึงมือผู้บริโภคชาวเวียดนามได้มากขึ้น
  • ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะ Parkson Plaza และ Daimond Plaza ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าหลายรายการ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับแบรนด์เนมนำเข้าจากต่างประเทศที่ได้รับความนิยมของทั้งชาวเวียดนามที่มีกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ การที่ชาวเวียดนามที่มีกำลังซื้อสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองที่นิยมเลือกซื้อสินค้า นัดพบปะเพื่อนฝูง รวมถึงติดต่อธุรกิจในห้างสรรพสินค้า ทำให้ห้างสรรพสินค้าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีศักยภาพในการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ
กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับเวียดนาม

ผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สนใจเจาะตลาดเวียดนามควรหาโอกาสนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเวียดนาม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า และยังเปิดโอกาสให้ได้พบปะกับผู้ค้าและผู้บริโภคชาวเวียดนามโดยตรง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงความต้องการของตลาดและเป็นโอกาสในการเจรจาธุรกิจซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเวียดนามที่สำคัญ คือ งาน Vietnam International Jewelry Fair ซึ่งเป็นงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และงาน International Jewelry + Watch ซึ่งจัดที่นครโฮจิมินห์และกรุงฮานอย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกเครื่องประดับไปจำหน่ายที่เวียดนามต้องดำเนินการผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือผู้กระจายสินค้าชาวเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีกฎหมายห้ามนักธุรกิจต่างชาตินำเข้าเครื่องประดับมาจำหน่ายเองโดยตรง

แม้ว่าเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่มีแนวโน้มสดใส อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดเวียดนามควรตระหนักถึงข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะรสนิยมของชาวเวียดนามที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจกับพฤติกรรมและรสนิยมของผู้บริโภคก่อนตัดสินใจผลิตและส่งออกสินค้า เพื่อมิให้เสียโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ กฎหมายและกฎระเบียบด้านการค้าของเวียดนามเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ผู้ประกอบการจึงควรต้องตื่นตัวและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกี่ยข้องอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งการขนส่งในเวียดนามยังมีปัญหาด้านความไม่พร้อมของถนนและกฎระเบียบการจราจร เช่น การจำกัดความเร็วของรถที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจเป็นอุปสรรคทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนค่าขนส่งและการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ