พระราชบัญญัติความปลอดภัยสินค้าบริโภคของสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2011 15:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ของสหรัฐฯ ลงนามในพระราชบัญญัติความปลอดภัยสินค้าบริโภค ฉบับแก้ไขปรับปรุงของปี 2008 (2551) หรือ HR 2715 (The Consumer Product Safety Improvement Act ) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 และมีผลบังคับใช้นับแต่นั้นเป็นต้นมา พรบ.ดังกล่าวเพิ่มอำนาจและให้ความยืดหยุ่นแก่คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสินค้าบริโภคสหรัฐฯ (Consumer Products Safety Council: CPSC) ในการกำกับดูแล

กลุ่มสินค้าบริโภคในการควบคุมและกำกับดูแลของสำนักงาน CPSC

          - All Terrain Vehicles Safety           - Household Products Safety
          - Art and Crafts Safety                 - Indoor Air Quality
          - Bicycle Safety                        - MECAP News
          - Child Safety                          - Older Consumers Safety
          - Children's Furniture                  - Outdoor Power Equipment Safety
          - Clothing Safety                       - Playground Safety
          - Crib Safety and SIDS Reduction        - Poison Prevention
          - Electrical Safety                     - Pool & Spa Safety
          - Fire Safety                           - Public Use Products
          - General Information                   - Recreational & Sports Safety
          - Holiday Safety                        - Reports
          - Home Heating Equipment                - Toy Safety

หมายเหตุ: ดูรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติมได้จาก CPSC's website : www.cpsc.gov

ทั้งนี้ ไม่ครอบคลุมสินค้าอาหารซึ่งควบคุมดูแลโดยสำนักงานอาหารและยา (US Food & Drugs Administration)

ข้อบังคับเพิ่มเติมและปรับปรุงของกฎหมาย

1. กำหนดระดับสารตะกั่ว (Lead) ในสินค้า: มีการปรับปรุง ดังนี้

1.1 สินค้าใช้กับเด็ก (Children Products) มีระดับสารตะกั่ว (Lead) ตกค้างได้ไม่เกิน 100 ppm (Par Per Million) และมีผลบังคับเฉพาะสินค้าที่ผลิตหลังวันที่ 14 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป สินค้าที่ผลิตก่อนวันที่ 14 สิงหาคม และมีระดับสารตะกั่วไม่เกิน 300 ppm ยังจำหน่ายต่อไปได้

1.2 ระดับสารตะกั่วไม่มีผลบังคับกับยานพาหนะประเภท Off-road Vehicles เช่น ATV (All-Terrain Vehicles) และ Snowmobiles ซึ่งใช้กับเด็กอายุ 12 ปี หรือต่ำกว่า

1.3 อนุญาตให้ส่วนประกอบที่เป็นโลหะของรถจักรยานมีระดับสารตะกั่วได้ไม่เกิน 300 ppm.

1.4 สินค้าเด็กใช้แล้ว (Used Children Products) ซึ่งบริจาคให้องค์กรการกุศล ได้รับการยกเว้นในเรื่องข้อบังคับระดับสารตะกั่ว

2. กำหนดระดับสารทาเลทส์ (Phthalates): กำหนดให้สินค้าใช้กับเด็กมีระดับสารทาเลทส์ได้ไม่เกิน 1000 ppm (Par Per Million) หรือ 0.1% ซึ่งผลิตและมีส่วนประกอบเป็นพลาสติก แต่ยกเว้นให้กับส่วนประกอบของสินค้าที่หลบซ่อนหรือจับต้องไม่ได้ และสินค้าต้องได้รับการทดสอบความปลอดภัยจาก Third party laboratory และมีหนังสือรับรองประกอบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป

3. การแก้ไขข้อบังคับด้าน Tracking Label : ให้อำนาจ CPSC พิจารณาข้อปรับปรุงกำหนดตามความเหมาะสมของสินค้า และให้อยู่ในดุลยพินิจของ CPSC เช่น กรณีสินค้าไม่สามารถดำเนินการในเรื่อง Tracking Label จะได้รับการยกเว้น ซึ่งตามกฎหมายความปลอดภัยสินค้าบริโภค ปี 2008 (2551) บังคับให้ผู้ผลิต/สินค้าใช้กับเด็ก (Children Product) ให้ระบุข้อมูลสินค้า เพื่อการสืบย้อนหลัง (Tracing) ไปยังแหล่งกำเนิดสินค้าโดยไม่มีการยกเว้น อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามในเรื่องประเภทสินค้าที่ได้รับการยกเว้นซึ่ง CPSC จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

4. การทดสอบความปลอดภัยสินค้า:

4.1 สินค้าของเล่นเด็กที่จำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้อง (1) ผ่านการทดสอบและ (2) มีเอกสารรับรอง (Testing & Certificate) ว่าสินค้าได้มาตรฐานความปลอดภัยจากห้องทดสอบซึ่งได้รับการเห็นชอบจาก CPSC และมีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2555

4.2 ยกเว้นการทดสอบและเอกสารรับรองด้านความปลอดภัยของสินค้าหนังสืออ่านสำหรับเด็ก (Children Books) วารสาร/นิตยสาร โปสเตอร์ บัตรอวยพร และ สินค้าที่มีลักษณะหรือรูปพรรณคล้ายกับสินค้าที่ได้กล่าวมาแล้ว

4.3 รถจักรยานเด็กได้รับการยกเว้น ไม่ต้องผ่านทดสอบความปลอดภัยโดย Third Party Laboratories

5. ยกเลิกการห้ามจำหน่าย รถ Youth ATV, Dirt Bike, Off Highway Motorcycle ซึ่งเป็นสินค้าที่ห้ามจำหน่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. พระราชบัญญัติความปลอดภัยสินค้าบริโภคของสหรัฐฯ เป็นอุปสรรคและเป็นข้อกีดกันทางการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่จะส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำเป็น ต้องศึกษา เตรียมตัวในการปฏิบัติ และดำเนินการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของกฎหมาย ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่สนใจจะศึกษากฎหมาย The Consumer Product Safety Improvement Act of 2008 ด้วยตนเองได้จาก CPSC's website : www.cpsc.gov

2. ภาครัฐควรจะร่วมมือสมาคมผู้ผลิตสินค้าบริโภคจัดทำสัมมนาให้ความรู้ และเชิญ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานดูแลความปลอดภัยสินค้าบริโภคของสหรัฐฯ หรือบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านการทดสอบความปลอดภัยสินค้ามาบรรยายให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าบริโภคไปยังสหรัฐฯ ได้รับทราบ และเตรียมตัวในการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

3. การพิจารณาผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีศักยภาพด้านบริการทดสอบความปลอดภัยสมัครเป็นผู้ให้บริการทดสอบความปลอดภัยสินค้าแก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทย กับสำนักงาน CPSC ของสหรัฐฯ ปัจจุบัน มีหน่วยงานเอกชนให้บริการทดสอบความปลอดภัยสินค้าเพียง 3 แห่ง ในประเทศไทยซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก CPSC สหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ