2 หน่วยงาน กระทรวงวิทย์ เจ๋ง จับมือ สร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ ฝีมือคนไทย

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2014 16:58 —สำนักโฆษก

2 หน่วยงาน กระทรวงวิทย์ เจ๋ง จับมือ สร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ ฝีมือคนไทย

ศ. น.ท. ดร.ศราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยสุรนารี(มทส) ผลิตเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ด้วยระบบเคลือบฟิล์มบางในสุญญากาศสำหรับกล้องโทรทรรศน์เครื่องแรกของประทศไทย มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ได้มีการบันทึกความเข้าใจตกลงกันดำเนินโครงการจัดสร้างและพัฒนาระบบเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการแรกที่ใช้ประโยชน์จากการทำบันทึกความเข้าใจตกลงที่จะทำการวิจัยและพัฒนาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกัน พร้อมผนึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส)ร่วมกันพัฒนาระบบเคลือบฟิล์มบางในสุญญากาศ สำหรับกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร โดยใช้ฟิล์มบางอลูมิเนียมเคลือบลงบนกระจกสะท้อนแสงมีความหนาประมาณ 80 นาโนเมตร และมีความเรียบสม่ำเสมอ เพื่อให้มีคุณสมบัติสะท้อนแสงที่ดีตามความต้องการ

การออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ประสงการณ์ ตลอดจนฝีมือช่างที่สะสมมาเป็นเวลานาน ตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี สซ. มีประสบการณ์ในการออกแบบ พัฒนา สร้างอุปกรณ์และเครื่องมือทางสุญญากาศระดับสูง (UHV) เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จึงมีศักยภาพเพียงพอในการจัดสร้างและพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกดังกล่าว

สำหรับกล้องโทรทรรศน์หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ มีกระจกสะท้อนแสงกล้องโทรทรรศน์ติดตั้งอยู่ภายใน เป็นกระจกกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ถูกเคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม เพื่อให้มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงที่ดี สามรถมองเห็นและบันทึกภาพวัตถุบนท้องฟ้าที่อยู่ไกลมากๆ และมีความสว่างน้อยได้ดี แต่เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งอลูมิเนียมที่เคลือบอยู่บริเวณผิวกระจกจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลง ทำให้ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงของกระจกลดลง จึงจำเป็นต้องมีการเคลือบผิวกระจกใหม่อย่างน้อยทุกๆ ปี เพื่อให้คงประสิทธิภาพในการสะท้อนแสง โดยเมื่อก่อนจะต้องส่งกระจกไปเคลือบที่ต่างประเทศ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ถ้าเคลือบกระจกเองในประเทศ จะทำให้ค่าใช้จ่ายลดน้อยลงกว่าเดิมถึงครึ่งหนึ่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โทร.02-3543954

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ