กรมศุลกากรเชิญภาคเอกชนร่วมรับฟังแนวทางดำเนินการตามปฏิญญาเขมราฐ (เลิกรับ เลิกให้)

ข่าวทั่วไป Tuesday May 12, 2015 09:52 —สำนักโฆษก

วันนี้ (วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2558) เวลา 15.00 น. ดร.สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินการตามปฏิญญาเขมราฐ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้า และตัวแทนออกของ เข้าร่วมรับฟัง

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินการตามปฏิญญาเขมราฐให้กับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ตัวแทนออกของ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคเอกชนต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ว่า จากเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันข้าราชการพลเรือน ณ ด่านศุลกากรเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี คณะผู้บริหารกรมศุลกากรได้ร่วมประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรทุกคนจะเลิกรับผลประโยชน์ที่มิควรรับทั้งหลาย รวมถึงจะประพฤติตนอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรมของข้าราชการที่ดีด้วยความโปร่งใส ปลอดจากคอร์รัปชั่น และการกระทำทุจริตทุกประการ ซึ่งการดำเนินการตามปฏิญญาเขมราฐจะมุ่งเน้นความโปร่งใส เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะยึดข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติเป็นหลัก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้การบริการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจน

โดยในระยะแรกกรมศุลกากรจะมีการดำเนินการประกาศปฏิญญาเขมราฐ ดังนี้

1. กำหนดช่องทางการร้องเรียนสำหรับผู้กระทำการทุจริตต่อผู้บริหารโดยตรง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ร้องเรียน

  • ระฆังศุลกากร: แก้ไขปัญหา ณ ที่ทำการด่านศุลกากรและสำนักงานศุลกากร โดยมีการระบุหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้บริหารระดับสูงประจำพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ โดยให้ความสำคัญในการรับข้อร้องเรียนและเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบด้วยความเป็นธรรม ณ จุดที่เกิดปัญหา
  • Email : Khemaratdeclaration@gmail.com เป็นช่องทางการรับข้อร้องเรียนต่อผู้บริหารกรมศุลกากรโดยตรง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ และแสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง บนพื้นฐานของการรับฟังข้อเท็จจริง เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
  • หมายเลขโทรศัพท์ 1332 : ร้องเรียน ร้องทุกข์ พบทุจริตคอรัปชั่นในหน่วยงานศุลกากร ผ่านกลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ซึ่งขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมศุลกากร

2. จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการตามปฏิญญาเขมราฐ ในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ป.ป.ช. ป.ป.ท. ให้มีหน้าที่ในการขับเคลื่อน สนับสนุน และผลักดันโครงการฯ ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเป็นไปด้วยความโปร่งใสตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

  • จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ในส่วนกลาง เพื่อรับทราบประเด็นปัญหา ในภาพรวมของกรมศุลกากร
  • จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ระดับพื้นที่ ทั้งนี้ หากจังหวัดใดมีด่านศุลกากรมากกว่า 1 ด่าน ให้จัดตั้งคณะกรรมการฯ เพียงคณะเดียว

3. เพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการฯ กรมศุลกากรจะดำเนินนโยบายเพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้นำเข้า-ส่งออก ตัวแทนออกของ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยจะนำเอาเทคโนโลยีและวิทยาการด้านการตรวจสอบทางศุลกากรมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กรมศุลกากรจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมีส่วนร่วมในโครงการฯ มากยิ่งขึ้น โดยการจัดลำดับความน่าเชื่อถือและการมีส่วนร่วมในโครงการฯ และหากผู้ประกอบการฯ ใดเข้าเกณฑ์ที่กรมฯ กำหนดก็จะได้รับสิทฺธิประโยชน์ด้านการดำเนินพิธีการศุลกากรต่อไป

โครงการตามประกาศปฏิญญาเขมราฐจะทำให้กรมศุลกากรมีพันธมิตรในการช่วยตรวจสอบและติดตามความโปร่งใสและความสุจริตของเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และหากมีการรายงานการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ฯ กรมศุลกากรจะได้ดำเนินการทางบริหารและทางวินัยอย่างเด็ดขาดต่อไป

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ