บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานครบรอบ 36 ปี

ข่าวทั่วไป Thursday July 2, 2015 17:37 —สำนักโฆษก

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม จัดงานวันครบรอบ 36 ปี วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ก้าวต่อไปยังมุ่งมั่นพัฒนากิจการท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ และพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในโอกาสนี้ได้จัดงานแถลงข่าวและเปิดนิทรรศการ 36 ปี ทอท. โดยมี นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. เป็นประธาน พร้อมด้วย นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ร่วมงานแถลงข่าวและเปิดนิทรรศการฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณห้องโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4

นายประสงค์ พูนธเนศ กล่าวว่า ทอท. ได้ก่อตั้งและดำเนินกิจการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2522 ซึ่งตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ให้บริการผู้โดยสารกว่า 1,205 ล้านคน เที่ยวบินรวม 8,298,717 เที่ยวบิน ปัจจุบันมีสายการบินใช้บริการ 137 สายการบิน

สำหรับก้าวต่อไปในการประกอบธุรกิจท่าอากาศยานของ ทอท. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และผลักดันให้ท่าอากาศยานของ ทอท. เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคในอนาคต โดย ทอท. ได้เร่งดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ รวมทั้งพัฒนางานด้านต่าง ๆ ได้แก่

  • การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 และอาคารเทียบเครื่องบิน หมายเลข 5 สำหรับให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2558 และเปิดให้บริการได้ประมาณปลายเดือนกันยายน 2558 หลังจากเปิดใช้อาคาร 2 แล้ว ทอท. มีแผนจะปรับปรุงอาคาร 1 เพื่อใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพ ทดม. ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี จากเดิม 18.5 ล้านคนต่อปี
  • การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ประกอบด้วย โครงการพัฒนา ทสภ. ระยะ 2 โดยก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อาคารผู้โดยสารและงานระบบสาธารณูปโภค กำหนดเริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2559 และแล้วเสร็จในปี 2562 โครงการนี้จะเพิ่มศักยภาพให้ ทสภ. สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี ส่วนโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมิน ผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เนื่องจากปริมาณการจราจรทางอากาศ และบทบาทการให้บริการของ ทสภ. และ ทดม. รวมทั้งการเติบโตของธุรกิจสายการบินในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนแม่บทเดิมที่ ทอท. ได้เคยศึกษาไว้ ทำให้ต้องมีการปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทั้งนี้ เมื่อแผนแม่บทการพัฒนา ทสภ. และ ทดม. แล้วเสร็จ จะนำเสนอโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ. ตามลำดับขั้นตอนและขออนุมัติคณะรัฐมนตรีต่อไป
  • การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 6.5 ล้านคนต่อปี เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี ขณะนี้งานก่อสร้างส่วนใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว คงเหลืออีก 2 งาน คือ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีความคืบหน้าประมาณร้อยละ 70 และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และหลังจากนั้นจะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศต่อไป
  • การพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) เป็นงานปรับปรุงประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการ ซึ่งดำเนินการในปี 2558 – 2561 เช่น งานปรับปรุงลานจอดอากาศยาน งานติดตั้งสายพานเทียบเครื่องบินเพิ่มเติม งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร เป็นต้น
  • การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ทอท. ได้พิจารณาแนวทางพัฒนาให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบิน โดยปรับปรุงห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าและขาออก งานก่อสร้างลานจอดรถยนต์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 15 ล้านคนต่อปี
  • การพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ได้แก่ โครงการปรับปรุงโถงทางเดินชั้น 2 ให้เป็นห้องโถงผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขยายเคาน์เตอร์เช็คอินเพิ่มเติม

นอกจากการเร่งรัดการพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าวแล้ว ปัจจุบัน ทอท. ได้ให้ความสำคัญ ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อกิจการขนส่งทางอากาศของประเทศและของโลก เช่น ภัยด้านการก่อการร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และการประเมินการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล เป็นต้น โดย ทอท. ได้จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน ณ ท่าอากาศยานทุกแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อม ตลอดจน ทอท. มีการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan) เพื่อให้การดำเนินกิจการของท่าอากาศยานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หากประสบวิกฤตการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานให้สอดคล้อง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้กิจการขนส่งทางอากาศของประเทศและการดำเนินกิจการท่าอากาศยานเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น ในกรณีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ เมอร์ส – โควี ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งการเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดสถานที่ การติดตั้งเทอร์โมสแกนและจัดหลุมจอดเฉพาะรองรับเครื่องบินจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น และสำหรับกรณีที่ ICAO ขึ้นสัญลักษณ์ธงแดงประเทศไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน (Significant Safety Concern : SSC) นั้น ทอท. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหากรณีที่อาจเกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ทอท. จากโครงการตรวจสอบกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน และเตรียมความพร้อมในการรองรับโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน ซึ่งในการทำงานจะประสานกับกรมการบินพลเรือนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป

สำหรับการพัฒนาด้านรายได้ ทอท. มีแนวทางการบริหารจัดการจะใช้ กลยุทธ์ “เพิ่มรายได้” พร้อมกับดูแลไม่ให้กระทบด้านมาตรฐาน “การบริการ” โดยหารายได้นอกเหนือจากรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน เช่น การบริหารพื้นที่ท่าอากาศยานต่าง ๆ ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบกับมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ทั้งในเรื่อง Safety และ Security ของท่าอากาศยานที่ต้องปฏิบัติตามหลักสากลควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนั้น ทอท. ยังได้เตรียมพัฒนาและการสร้างบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพในธุรกิจท่าอากาศยาน โดยกำหนดเป็นแผนงานในการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยานและการปฏิบัติการท่าอากาศยาน รวมถึงโครงการความร่วมมือกับท่าอากาศยานต่างประเทศ ภายใต้โครงการ Sister Airport และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Cornell รวมทั้งการมีโครงการสืบทอดตำแหน่ง หรือ Successor เพื่อให้การดำเนินงานของท่าอากาศยานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ประสบผลสำเร็จด้านบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งตลอดระยะเวลา 36 ปีแห่งการดำเนินงานของ ทอท. ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาท่าอากาศยานที่รับผิดชอบให้สามารถสนับสนุนกิจการขนส่งทางอากาศของประเทศ และ ทอท. มีความภูมิใจที่ได้มีส่วนในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความเจริญให้กับสังคมไทย

"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ที่มา : บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ