ผลประชุมคณะกรรมการเตรียมการ DE นัดสาม เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมดันมาตรการ Cyber Security

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2015 12:20 —สำนักโฆษก

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 3/2558 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1. การเตรียมการจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2. การดำเนินงานของคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ 3. การดำเนินงานด้านของคณะทำงานศูนย์ข้อมูลในประเทศ 4. การจัดทำมาตรฐานกลางรหัสสินค้าและบริการ และระบบทะเบียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานรวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5. การผลักดันมาตรการด้าน Cyber Security ในระยะเร่งด่วน

ทั้งนี้ ในส่วนของการเตรียมการจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงไอซีทีจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแทนแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ โดยกระทรวงไอซีทีจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

สำหรับการดำเนินงานของคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ ได้มีการเสนอความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนงาน 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญการออกแบบโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติ อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานในการจัดจ้างที่ปรึกษาตามแผนการดำเนินการบรอดแบนด์แห่งชาติ 2) การเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. ได้นำเสนอแนวทางดำเนินการนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ได้รับคืนจาก DTAC และ CAT ให้แก่สำนักงาน กสทช. ไปกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ สำหรับการประมูลตามแผนการประมูลของสำนักงาน กสทช. โดยสำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ ช่วงวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เพื่อดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ในเดือนพฤศจิกายน 2558 3) การเตรียมการด้านปัญหาการพาดสายสื่อสารเพื่อขยายโครงข่ายโทรคมนาคม (Right of way) ได้มอบหมายให้ TOT และ CAT ร่วมกันเป็นผู้ดำเนินการวางระบบท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน มอบหมายสำนักงาน กสทช. จัดทำหลักเกณฑ์แนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการให้มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกราย และแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดแผนการนำสายสื่อสารและสายไฟฟ้าลงร้อยท่อใต้ดินในกรุงเทพฯ และ 4) การเตรียมการด้านบริการโครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศ (International Gateway) การรวบรวมข้อมูลสินทรัพย์โครงข่ายสื่อสาร (Passive Infrastructure) อยู่ในระหว่างจัดทำแผนการดำเนินงานซึ่งครอบคลุมเส้นทางเคเบิลใต้น้ำ (Submarine Cable) รูปแบบการลงทุน ตลอดจนแผนการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และมอบหมายสำนักงาน กสทช. กำหนดโครงสร้างราคาการให้บริการ และกำกับดูแลการให้บริการโครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศให้เหมาะสม

ด้านคณะทำงานศูนย์ข้อมูลภายในประเทศ ได้รายงานความคืบหน้าการสำรวจสถานภาพศูนย์ข้อมูลภาครัฐ แนวทางการจัดการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ การกำหนดมาตรฐานศูนย์ข้อมูลสำหรับการให้บริการภาครัฐและกำกับดูแลการให้บริการศูนย์ข้อมูล ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน รวมถึงการดำเนินการร่างหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 มีผู้ให้ความสนใจลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลสำหรับบริการภาครัฐที่ลงทะเบียนและให้ข้อมูลกับคณะทำงานฯ จำนวน 26 บริษัท โดยในส่วนของสิทธิประโยชน์ ได้มีการหารือเบื้องต้นกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อใช้กำหนดแนวทางนโยบายการส่งเสริมด้านพลังงาน ทั้งในด้านของคุณภาพ ความมีเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับศูนย์ข้อมูล และในด้านค่าใช้จ่าย ที่ประชุมได้เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐเช่าใช้บริการจากผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลรัฐวิสาหกิจ/เอกชน ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการชั่วคราวสำหรับระบบที่มีข้อมูลทั่วไป โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้กำหนดราคากลางในการเช่าใช้บริการในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ จะได้เร่งรัดให้ศูนย์ข้อมูลภายในประเทศสามารถเปิดให้บริการได้เร็วขึ้น ซึ่งศูนย์ข้อมูลภาครัฐจะก่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูล การจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน สร้างความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณภาครัฐ และสร้างมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยและมาตรฐานบริการ รวมทั้งผลักดันภาคเอกชนให้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน อันจะก่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดทำมาตรฐานกลางรหัสสินค้าและบริการ และระบบทะเบียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ในสังกัดกระทรวงไอซีที เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกรมศุลกากร รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำมาตรฐานกลางรหัสสินค้าและบริการ และพัฒนาระบบทะเบียนรหัสสินค้าและบริการของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำเข้า-ส่งออก

ในประเด็นสุดท้าย ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการผลักดันมาตรการด้าน Cyber Security ในระยะเร่งด่วน โดยเห็นชอบให้หน่วยงานระดับกรมจำนวน 252 หน่วยงาน เข้าร่วมโครงการระบบตรวจจับและวิเคราะห์การโจมตีผ่านเครือข่าย (ThaiCERT Government Monitoring System: GMS) ภายในปี 2560 และใช้มาตรฐาน Website Security Standard เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ และแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาให้ความเห็นต่อ ICANN ในการสนับสนุนหรือคัดค้านคำขอจดชื่อโดเมนที่สำคัญของประเทศไทย โดยมอบหมายให้ ETDA ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งที่ผ่านมา ETDA ได้ดำเนินการเผยแพร่มาตรฐานดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงจากการโจมตีเว็บไซต์และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีวิธีการรับมือและจัดการกับปัญหา รวมทั้งจัดอบรมให้กับภาครัฐ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการดูแลเว็บไซต์ให้มีความมั่นคงปลอดภัยด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ