นายกรัฐมนตรีขอให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกช่วยแจงความคืบหน้าพัฒนาการการเมืองไทย สร้างความเชื่อมั่น เน้นดูแลคนไทยและเดินหน้าการทูตเชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Friday November 13, 2015 14:40 —สำนักโฆษก

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2558) เวลา 10.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก และมอบนโยบายแก่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก โดยมีนายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก 98 แห่งและข้าราชการระดับสูงรอให้การต้อนรับ ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

ภายหลังการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาร่วมในการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มีการพูดคุยอีกครั้ง โดยการประชุมครั้งนี้เน้นเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะกระทรวงการต่างประเทศเป็นกลจักรสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุล จะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์ดำรงธรรมที่ให้ความช่วยเหลือ คนไทยในต่างประเทศ นอกจากนั้น การที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม G-77 ในวาระปี 2559 ก็สะท้อนให้เห็นว่านานาชาติให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในไทย ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันบทบาทนี้ของไทยให้ต่อเนื่องและราบรื่น

ในเรื่อง การสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้บริหารประเทศครบ 1 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติหลายประการ ด้วยเป้าหมายหลัก คือการสร้างความปรองดอง ส่งเสริมการปฏิรูปและพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นที่ 2 ของ Roadmap โดยรัฐบาลได้ปรับ Roadmap ให้สอดคล้องกับกรอบเวลาของกระบวนการทางการเมืองในปัจจุบัน ในระยะเวลา 17-18 เดือน หลังจากนี้ ไทยจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ระหว่างนี้ รัฐบาลก็เร่งขับเคลื่อนการบริหารราชการทั้ง 11 ด้าน ขอให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ติดตามพัฒนาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้เดินหน้าอยู่ตลอดเวลา อาทิ ในด้านการเมือง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กำลังทำงานอย่างแข็งขัน ด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะมีความต่อเนื่องไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล

สำหรับการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ต้องให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้นโยบาย thailand +1 โดยจะร่วมมือกับทุกประเทศโดยเฉพาะ กลุ่มประเทศ CLMV โดยไม่มีการละทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ทั้งนี้ จะต้องขยายความเชื่อมโยงผ่านเส้นทางคมนาคม โดยไม่มองเส้นเขตแดนเป็นอุปสรรคของความร่วมมือ แต่ขณะเดียวกันก็ดูแลความปลอดภัยในจุดผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ

นโยบายเศรษฐกิจหลัก ๆ ของรัฐบาล คือ สร้างความเติบโตจากภายใน ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเดินหน้าในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในบริบทโลก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศหลัก ๆ ที่สำคัญด้วย อาทิ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การส่งเสริมความเชื่อมโยง การเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว เป็นต้น นอกจากนี้ การรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจก็สำคัญ ไทยต้องไม่ขัดแย้งกับใครและจะมุ่งส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค การรักษาความสัมพันธ์กับมิตรประเทศอื่น ๆ ก็ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือกับต่างประเทศ และที่สำคัญ คือ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันติดตามผลการเยือนเพื่อผลักดันให้สิ่งที่รัฐบาลได้ตกลงกับผู้นำชาติต่างๆมีความคืบหน้าและสำเร็จเป็นรูปธรรม

ขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาหลายอย่างอย่างจริงจังเพื่อยกระดับมาตรฐานของไทยสู่สากลให้เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU การค้ามนุษย์ มาตรฐานการบิน และแรงงานผิดกฎหมาย จะต้องสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศต่อไปอย่างต่อเนื่องด้วย

การดำเนินการทูตเชิงเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล รัฐบาลมีมาตรการทั้งระยะเร่งด่วนที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และ SMEs รวมทั้งมาตรการระยะกลางและระยะยาวในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในและเพื่อสร้างรากฐานอนาคตให้กับประเทศ จึงขอให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ช่วยกันผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งในระดับย่อยและในระดับโครงสร้าง เช่น การช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs และผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงองค์ความรู้จากต่างประเทศ มาช่วยเพิ่มพูนมูลค่าของสินค้า สำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลมีมาตรการดึงดูดนักลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์หลายประการ จึงต้องเน้นการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับนโยบาย Thailand +1 ที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย เพื่อให้ทั้งภูมิภาคเติบโตไปด้วยกัน ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยง ทั้งในประเทศไทยและระดับภูมิภาค ทำให้ไทยใช้ศักยภาพการเป็นศูนย์กลางได้อย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรียังขอให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ช่วยกันชี้ช่องทางและโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ช่วยเปิดทางให้หน่วยงานและผู้ประกอบการของไทยกับต่างประเทศ เพื่อสร้างหุ้นส่วนใหม่ ๆ และผลักดันการเจรจาความตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าที่จะเป็นประโยชน์กับไทยด้วย โดยต้องร่วมมือกับกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกัน งานหลักในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และอื่น ๆ ก็ขอให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทำอย่างต่อเนื่อง ให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยเป็น one stop service ในการให้ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับไทย

ปัจจุบันทุกประเทศเองก็ให้ความสำคัญในการปฏิรูปภายในเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในการเผชิญหน้ากับความท้าทาย ไทยพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับทุกภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งความร่วมมือด้านการเกษตร การสร้างแบรนด์สินค้าฮาลาล การประมง โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อสังเกตในการสร้างตราสินค้า อาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งสินค้าอาเซียน ที่ทุกประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน

รัฐบาลกำลังปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน ผ่านการส่งเสริมของ BOIโดยเน้นการส่งเสริมลงทุนตามกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) ต่างๆ ทั้ง ภาคเกษตร ยานยนต์ รวมทั้งการเอื้อประโยชน์สำหรับการลงทุนในเขคเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ในลักษณะ Super Cluster รัฐบาลพร้อมที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน รัฐบาลพร้อมดูแลทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตร รัฐบาลจะสนับสนุนให้ไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า การแปรรูปสินค้าเกษตร รัฐบาลพร้อมส่งเสริมรูปแบบการลงทุนต่างๆ

ด้านการท่องเที่ยว ไทยยังเป็นสถานที่ยอดนิยมของชาวต่างประเทศ สิ่งสำคัญ คนไทยจะต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี และให้ความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน จะต้องมีการจัดกลุ่มการท่องเที่ยว ส่งเสริมการบริการที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งขยายพื้นที่การท่องเที่ยวไปยังจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือและเรือสำราญ โดยเชื่อมความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพ อื่นๆ อาทิ เวียดนาม เป็นต้น รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา ซึ่งไทยเป็นยอมรับ

สำหรับการคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี ขอให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่งให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์ดำรงธรรมในต่างประเทศและเป็นที่พึ่งของคนไทย นายกรัฐมนตรีทราบว่าเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ต่างได้ดำเนินการอยู่แล้ว จึงขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยในต่างประเทศ ส่วนการจัดงาน Bike for Dad เดือนหน้าก็จะเป็นโอกาสดีที่จะได้มาร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากที่ได้มีโอกาสพบปะเอกอัครราชทูตต่างประเทศ และภาคเอกชน ทุกประเทศและภาคเอกชนต่างมีท่าทีในทางบวกต่อสถานการณ์ของประเทศไทย และพอใจที่ไทยมีเสถียรภาพ การเดินหน้าตาม Roadmap มีความคืบหน้า ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ เอกอัครราชทูตในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทยในต่างประเทศต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีบูรณาการ ทั้งในเรื่องการติดตามและผลักดันสิ่งที่รัฐบาลได้ตกลงกับต่างประเทศไว้แล้ว รวมถึงแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน รวมทั้งสะท้อนความคิดความเห็นของต่างประเทศที่มีต่อไทยให้รัฐบาลทราบ เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ