นายกรัฐมนตรีเสนอวิสัยทัศน์ในการประชุมช่วงที่ 2 ของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 16, 2016 15:56 —สำนักโฆษก

วันนี้ (16 ก.พ. 59) เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ซันนีแลนด์ (Sunnylands) เมืองรานโช มิราจ (Rancho Mirage) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ 2 (Retreat II) ของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ และได้กล่าวถ้อยแถลง ในหัวข้อ การปกป้องสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก (Protecting Peace, Prosperity, and Security in the Asia-Pacific)

พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

การประชุมช่วงที่ 2 (Retreat II) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในหัวข้อการปกป้องสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก (Protecting Peace, Prosperity, and Security in the Asia-Pacific) ที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ ครอบคลุม การก่อการร้าย การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลก การสาธารณสุข และปัญหาการค้ามนุษย์

นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับอาเซียนและสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายข้ามชาติ ซึ่งเป็นทั้งภัยเร่งด่วนและไม่สามารถแก้ไขโดยประเทศใดประเทศหนึ่งได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงงานสาธารณสุข โดยชื่นชมความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีโอบามาและสหรัฐที่มีส่วนสำคัญ ในการช่วยยุติการระบาดของไวรัสอีโบลาไม่ให้แพร่กระจายไปทั่วโลก และยังได้ริเริ่มวาระความมั่นคงทางสุขภาพระดับโลก (GHSA) ช่วยคุ้มครองโลกจากภัยคุกคามของโรคระบาด อื่นๆ เช่นไวรัสซิกา ในอนาคตได้ ในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำ (lead country) ไทยพร้อมสนับสนุนและร่วมมือในกรอบด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนากำลังคน และสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของห้องแล็บทางการแพทย์ การฝึกอบรมบุคลากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยได้มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขภายใต้กรอบอาเซียนด้วยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC (ซีดีซี) ได้ให้ความช่วยเสริมในการส่งเสริมสมรรถภาพของหน่วยงานไทยในการป้องกันและควบคุมโรคและลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรค ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งระดับภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ในระดับทวิภาคี ไทยและสหรัฐ ฯ ก็มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดผ่านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ AFRIMS (แอ็ฟฟริมส์) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย มีผลงานโดดเด่นในด้านการค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อและล่าสุด ไทยได้รับความเห็นชอบให้เป็นที่ตั้งของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรทั้งเวลา บุคคลากรและทุน เพื่อปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการปรับแก้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น การลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด การนำผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายใหญ่มาดำเนินคดี การเพิ่มประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และการคุ้มครองความปลอดภัยของเหยื่อ เพื่อสดงถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ทุกมิติ รวมทั้งเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งในระดับทวิภาคี ซึ่งไทยมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ อาทิ FBI กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ โดยเฉพาะสถาบันฝึกอบรมว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA) ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วยฝึกอบรมหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายจากทั่วภูมิภาค เพื่อรับมือกับปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมอื่นๆ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของทุกฝ่าย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุน กฎหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดทางเพศต่อเด็ก ที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนาม ซึ่งไทยเองก็ให้ความสำคัญและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศต่างๆ ในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อ

นอกจากนี้ ไทยยังให้มีการจริงจังในการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสร้างความมั่นใจว่าสินค้าของไทยถูกต้องตามจรรยาบรรณและได้มาตรฐานสากล และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐสภาสหรัฐฯ ก็เพิ่งผ่านกฎหมายเรื่องการอำนวยความสะดวกและการบังคับเรื่องการค้า โดยมีประเด็นเกี่ยวกับแรงงานบังคับด้วย ซึ่งไทยเองก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

สำหรับการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาคต่างๆ ในปีที่ผ่านมายังส่งผลให้สถานการณ์การค้ามนุษย์มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องเป็นอย่างครอบคลุมและภายใต้หลักการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศ โดยอาเซียนได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการพยายามแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียอย่างครอบคลุมและยั่งยืน สมาชิกอาเซียนมีส่วนร่วมที่แข็งขันในการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานฯ ทั้งสองครั้งในปีที่ผ่านมา เห็นได้อย่างชัดเจนจำนวนผู้อพยพชาวโรฮีนจาลดลงอย่างมากจากปีที่แล้ว

นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่แสดงความพร้อมสนับสนุนอาเซียนในการพัฒนาศักยภาพด้านการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวนหนึ่ง แม้จะมีภาระรับผู้พลัดถิ่นจากทั่วโลกจำนวนมากอยู่แล้วก็ตาม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังหวังว่า สหรัฐฯ จะยังคงร่วมมือกับอาเซียนในการตอบโต้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามอาเซียนอย่างรุนแรงในทุกปี และขอให้สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของการปฏิบัติการด้านการบรรเทาทุกข์และการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติของอาเซียน ซึ่งอาเซียนกำลังจัดตั้งคลังเก็บสิ่งของบรรเทาทุกข์และให้ความช่วยเหลือในภูมิภาค โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเตือนภัยพิบัติและการแพทย์ฉุกเฉินด้วย

โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพหมู่กับผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ด้วย จากนั้นในเวลาประมาณ 23.30 น. นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 13.30 น.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ