คสช. เห็นชอบในหลักการยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เคยมีอยู่ทั้งหมด โดยให้กรมการขนส่งฯ ออกใบอนุญาตใหม่โดยตรงกับ ขสมก. และบริษัทเอกชน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 28, 2017 11:33 —สำนักโฆษก

โฆษกรัฐบาล เผย คสช. เห็นชอบในหลักการยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เคยมีอยู่ทั้งหมด โดยให้กรมการขนส่งฯ ออกใบอนุญาตใหม่โดยตรงกับ ขสมก. และบริษัทเอกชน

วันนี้ ( 28 ก.พ. 60) เวลา 15.40 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องที่ประชุม คสช. มีการหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีปัญหามายาวนาน โดยการเดินรถประจำทางดังกล่าวเป็นการดำเนินการทั้งในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัทร่วมเอกชนเข้ามาดำเนินการ บางครั้งเกิดทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันกันโดยการวิ่งรถทับสายกัน และมีการขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กำหนดจนส่งผลทำให้ประชาชนผู้โดยสารได้รับอันตราย

ทั้งนี้ จากที่มีการศึกษาพิจารณาถึงปัญหาโดยรวมที่เกิดขึ้นพบว่า ปัญหาที่แท้จริงคือกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางให้กับ ขสมก. ซึ่ง ขสมก. เป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ให้สามารถเดินรถโดยสารประจำทางได้ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 202 สาย ใช้รถโดยสารจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 6,000 คัน แต่ ขสมก. มีรถโดยสารเพียงประมาณ 2,600 คัน ดังนั้น ขสมก. จึงไปดำเนินการทำสัญญาเพื่อหาบริษัทเอกชนหรือผู้ประกอบการอื่น ๆ มาร่วมดำเนินการเดินรถโดยสารให้บริการประชาชนให้ครบทุกสายตามที่กำหนดจึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวขึ้น ขณะเดียวกันใบอนุญาตที่กรมการขนส่งทางบกออกให้กับ ขสมก. มีอายุ 7 ปีต่อ 1 ใบ โดยในแต่ละปีคิดค่าใบอนุญาต ปีละ 1,000 บาท ซึ่ง ขสมก. ได้มีการนำใบอนุญาตไปหารถร่วมบริการมาวิ่ง โดยคิดค่าบริการกับรถร่วม วันละ 15 บาท ต่อคัน และเป็นสัญญาตกทอดกันมาอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นปัญหาค้างคามาโดยตลอด

ดังนั้น ที่ประชุม คสช. จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เคยมีอยู่ทั้งหมด ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการออกใบอนุญาตใหม่ โดยให้เป็นผู้ให้ใบอนุญาตโดยตรงทั้งกับ ขสมก. หรือบริษัทเอกชนที่ความประสงค์จะประกอบการเดินรถโดยสารประจำทาง อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องมีการดำเนินการดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการวิ่งรถทาบทับเส้นทางกันจะทำให้รถโดยสารประจำทางทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีจำนวน 202 สาย อาจเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 260 – 270 สาย เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ และจะทำให้หมายเลขรถโดยสารประจำทางเปลี่ยนสายใหม่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนขึ้นรถผิดสายได้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาในการเตรียมการทุกอย่างให้ลงตัวภายใน 2 ปี โดยกรมการขนส่งทางบกได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับบริษัทเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทเอกชนและผู้ประกอบการรถโดยสารมีความพึงพอใจต่อการดำเนินแก้ไขปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแผนให้ชัดเจน และสร้างการรับรู้กับสารธารชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่องจนกว่าแผนจะชัดเจนและลงตัว ประชาชนทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมมั่นต่อการดำเนินการดังกล่าว และให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมการขนส่งทางบก ขสมก. และผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้มีความเข้าใจที่สอดคล้องตรงกันและได้รับผลประโยชน์ที่เป็นธรรมเหมาะสมกับทุกฝ่าย

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ