นรม.สาธิตการใช้บัตร E-Ticket บนรถโดยสาร ซึ่งผู้ถือบัตร สวัสดิการฯ สามารถนำบัตรมาแตะที่เครื่องอ่านบัตร ขณะที่ขึ้นและลงรถโดยสาร

ข่าวทั่วไป Tuesday October 17, 2017 15:51 —สำนักโฆษก

นรม.สาธิตการใช้บัตร E-Ticket บนรถโดยสาร ซึ่งผู้ถือบัตร สวัสดิการฯ สามารถนำบัตรมาแตะที่เครื่องอ่านบัตร ขณะที่ขึ้นและลงรถโดยสาร เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวก ปลอดภัย และสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว

วันนี้ (17 ตุลาคม 2560) เวลา 08.30 น. ณ บริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดจนตัวแทนจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการบัตรโดยสารร่วมรถประจำทางสำหรับผู้โดยสารแบบใหม่ โดยมีรถเมล์สีครีม-แดงมาสาธิตบริเวณด้านทางขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าด้วยจำนวน 1 คัน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ทดลองใช้บัตรฯ พร้อมแตะที่เครื่องอ่านบัตร

ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้นำระบบ E-Ticket และ GPS มาติดตั้งบนรถโดยสารประจำทาง เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวก ปลอดภัย และสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตลอดจนสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ทุกระบบ

นอกจากนี้ ขสมก. ยังมีแผนติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถโดยสารทั้งหมดจำนวน 2,600 คัน โดยในเบื้องต้นจะทำการติดตั้งเครื่องอ่านบัตร และเครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ บนรถโดยสารธรรมดา จำนวน 800 คันก่อน เพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง โดยจะเริ่มใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป

สำหรับขั้นตอนการใช้บัตร E-Ticket บนรถโดยสาร ผู้ถือบัตร สวัสดิการฯ จะต้องนำบัตรมาแตะที่เครื่องอ่านบัตร ขณะที่ขึ้นและลงรถโดยสาร เพื่อเป็นการหักค่าโดยสารจากวงเงินในบัตรอย่างอัตโนมัติ ประโยชน์ของการนำระบบ E-Ticket มาใช้ จะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการใช้บริการรถโดยสาร ลดระยะเวลาในการรอเงินทอนจากการชำระค่าโดยสารตามปกติ และยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบตั๋วร่วม สำหรับการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆในอนาคต เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ทางเรือ ฯลฯ เรียกได้ว่าใช้บัตรเพียงใบเดียว สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆได้ทุกระบบ ในส่วนของ ขสมก. จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บค่าโดยสาร ลดขั้นตอนในการตรวจนับเงิน และการบันทึกเงินค่าโดยสาร และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรอีกด้วย

สำหรับการใช้ระบบ GPS ขสมก.ได้จัดตั้งศูนย์กลาง GPS ณ บริเวณชั้น 1 อาคารสำนักงานใหญ่ ขสมก. ถนนวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ และตั้งศูนย์ GPS ประจำเขตการเดินรถที่ 1-8 ประโยชน์ของการใช้ระบบ GPS คือ ช่วยในการควบคุม และติดตามการเดินรถในเส้นทาง ซึ่งระบบดังกล่าว สามารถบอกได้ว่ารถโดยสารคันใดวิ่งให้บริการ ณ จุดใดบนท้องถนน หากเกิดปัญหาการจราจร หรือมีรถเสียในเส้นทา ซึ่งเป็นเหตุให้รถโดยสารขาดระยะ นอกจากนี้ ระบบ GPS ที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถโดยสาร พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในรถโดยสาร จำนวน 2 ตัว ภายนอกรถโดยสาร 2 ตัว สามารถบอกพฤติกรรมการขับรถของพนักงาน หากมีการขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร หรือขับรถออกนอกเส้นทาง ประการสำคัญระบบGPS ยังสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในตัวรถ หากมีมิจฉาชีพ หรือมีผู้วิกลจริตแฝงตัวมาบนรถโดยสาร แล้วส่ออาการพิรุธ มีการลวนลามทางเพศ หรือ กระทำความผิดบนรถโดยสาร พนักงานขับรถและผู้ควบคุมศูนย์ฯจะมองเห็นได้ชัดเจน สามารถเข้าช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เพิ่มความปลอดภัยบนรถโดยสาร อีกทั้งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการในการเดินทางด้วยรถโดยสารของ ขสมก.

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ช่วยกันทำให้โครงการฯ นี้สำเร็จลุล่วง และเป็นไปอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน

อนึ่ง ผู้ใช้บริการต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามเส้นทางรถเมล์ หรือแนะนำการให้บริการได้ที่ WWW.bmta.co.th , Facebook bmta@bmta.co.th หรือ ศูนย์ Call Center 1348 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.00 น.

......................................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ