ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561

ข่าวทั่วไป Monday April 23, 2018 14:22 —สำนักโฆษก

ที่ประชุม กพช. รับทราบ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

วันนี้ (23 เม.ย.61) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่มีความสำคัญ ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัจจุบันต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องและทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนมากที่สุด ครอบคลุมทุกมิติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและประชาชนหรือผู้บริโภค ตลอดจนการดำเนินการให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต การเตรียมความพร้อมด้านพลังงานให้เพียงพอและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมใหม่และอุตสาหกรรมเก่าที่มีอยู่เดิม และพลังงานของชุมชนต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่หลายประเภทในปัจจุบันด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุม กพช. รับทราบ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) เป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การพิจารณาการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการและศักยภาพการผลิตในแต่ละภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิรูปด้านพลังงานด้วย โดยจะให้ความสำคัญในประเด็นสำคัญ คือ

1) ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) ทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า รายพื้นที่ คำนึงถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเพิ่มของประชากร และอัตราการขยายตัวของเขตเมืองในระดับประเทศและระดับภูมิภาค การกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง (Fuel Diversification) มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม เพื่อรองรับกรณีเกิดเหตุวิกฤตด้านพลังงาน พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart grid) เพื่อรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation: DG) และรองรับการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

2) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) คำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อลดภาระผู้ใช้ไฟฟ้า มีการปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตาม Merit Order

3) ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในปลายแผนไม่เกิน 0.319 kgCO2/kWh ส่งเสริมระบบไฟฟ้าแบบไมโครกริด (Micro Grid) ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและด้านการใช้ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการตอบสนองด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) จะสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าและการลดเงินตรานำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

ทั้งนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันมีปริมาณเพียงพอรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจนถึงปี 2566 โดยจะมีการวางแผนเพื่อให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพในแต่ละภาคไปพร้อมกัน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทาน ในปี 2565-2566 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) โดยออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูล ในวันที่ 24 เมษายน 2561 ณ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตามทีโออาร์การเปิดประมูลระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขหลักในการประมูลไว้ ดังนี้

1) ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องผลิตก๊าซธรรมชาติปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 และต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61

2) ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติ ในปัจจุบัน ตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล

3) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และเสนอผลประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ

4) ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ โดยปัจจุบัน ทั้ง 2 แหล่ง มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 75% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย สำหรับกลุ่มแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 ขณะที่กลุ่มแหล่งบงกชมีปริมาณการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 โดยจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 และจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 7 มีนาคม 2566

-----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ