ปลัดแรงงานยัน SMEs ปิดกิจการไม่ได้มีสาเหตุจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ

ข่าวทั่วไป Friday January 11, 2013 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันกรณีผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อม(SMEs) ปิดกิจการไม่ได้มีสาเหตุจากนโยบายการปรับขึ้นค่าเกี่ยวปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ และเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่านโยบายดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ขณะที่ตัวเลขการเลิกจ้างย้อนหลังตั้งแต่ปี 52-55 เหลือ 5-7 พันคนต่อเดือน จาก 3.8 หมื่นคนต่อเดือนในช่วงวิกฤตแฮมเบอเกอร์เมื่อปี 52

"กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่มีใครหรือบริษัทใดได้รับผลกระทบเลิกจ้างจากการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ มันเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าการเลิกจ้างเป็นสาเหตุมาจากการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท" นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงงาน กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การเลิกจ้างไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ รวมถึงเรื่องของการปิดกิจการก็ยังเป็นสถิติที่ปกติถือว่ายังลดลงกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการวิเคราะห์สาเหตุหลักของการปิดกิจการของกลุ่มเอสเอ็มอี คือ ประสบปัญหาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทุกแห่ง เช่น มีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย ขายไม่ออก มีปัญหาเรื่องของความต้องการย้ายกิจการจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งพอขาดสภาพคล่องจากการบริหารธุรกิจก็พ่วงประเด็นการปรับค่าจ้าง 300 บาทเข้าไป

"ไม่อยากให้สังคมตกใจ กระทรวงแรงงานยืนยันว่าการปิดกิจการ การเลิกจ้างตามที่เป็นข่าวเป็นเรื่องปกติของการประกอบธุรกิจ สถิติ ณ เวลานี้กับสถิติในหลายๆ ปีอยู่ในสภาวะปกติของประเทศ ไม่ได้เป็นเรื่องที่รุ่นแรงหรือผิดปกติแต่อย่างใด" นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้รวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง เพื่อความพร้อมในการแก้ไขปัญหาและให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่เดือดร้อนระหว่างวันที่ 1-9 ม.ค.56 พบว่า มีสถานประกอบการเลิกจ้างบางส่วนเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้าง 5 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 421 คน จากจำนวน 1,266 คน และได้ติดตามให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์แล้ว 7,147,250 บาท

สำหรับสถิติการเลิกจ้างตั้งแต่ปี 52-55 พบว่า ในปี 52 แบ่งเป็นช่วงไตรมาสแรกของปีวิกฤตแฮมเบอเกอร์ในไตรมาสแรกของปีมีการเลิกจ้างถึงราว 3 หมื่นกว่าราย จากนั้นสถานการณ์การเลิกจ้างในปี 52 ค่อยๆ ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแล้วลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงธันวาคมเหลือเพียง 8,185 คน ส่วนในปี 53 ยังอยู่ในสภาวะปกติของการเลิกจ้างซึ่งมีตัวเลขระหว่าง 7,000-9,000 คน กระทั่งเดือน ธ.ค.53 ตัวเลขเลิกจ้างเหลือเพียง 5,625 คน ซึ่งเป็นตัวเลขการถูกเลิกจ้างในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยอยู่ในช่วงปกติ

ส่วนในปี 54 ก็เช่นเดียวกันมีตัวเลขการเลิกจ้างในแต่ละเดือนอยู่ระหว่าง 5-6 พันคน จนช่วงประมาณเดือน พ.ย.54 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตน้ำท่วมส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง 13,254 คน และเดือน ธ.ค. 19,140 คน ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปี 55 โดยในเดือน ม.ค. 14,829 คน เดือน กุ.พ. 15,910 คน จากนั้นเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติซึ่งตัวเลขการเลิกจ้างเริ่มลดลงตั้งแต่เดือน มี.ค. แม้กระทั่งในช่วงปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำราว 39.5% เมื่อเดือน เม.ย.55 ตัวเลขก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 55 ตัวเลขการเลิกจ้างลงมาอยู่ที่ราว 5-6 พันคนเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ