ไทยเสี่ยงต่ำจะพบอีโบลาระบาดในสัตว์-วาง 7 มาตรการเฝ้าระวังพร้อมรับมือ

ข่าวทั่วไป Monday August 25, 2014 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.สพ.สรวิศ ธานีโต นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ำที่จะมีโรคอีโบลาในสัตว์ เพราะนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดไข้หวัดนก ประเทศไทยได้เริ่มมีการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ชนิดต่างๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศ

สำหรับโรคอีโบลานั้น กรมปศุสัตว์ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการสุ่มตัวอย่างและตรวจหาเชื้อไวรัสอีโบลามาตั้งแต่ปี 2556 และยังไม่พบรายงานการเจอเชื้อไวรัสนี้ทั้งในสัตว์ปีก สัตว์ป่า หรือสัตว์เศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ข่าวการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาที่เกิดขึ้นในแอฟริกาซึ่งล่าสุดขยายเพิ่มเป็น 5 ประเทศ คือ ไนจีเรีย ไลบีเรีย เซียล่าลีโอน กินี และล่าสุดคือ คองโก นั้น เราไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการเตรียมมาตรการเฝ้าระวัง 7 ข้อเสนอเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยปลอดจากเชื้ออีโบลา

"ขอความร่วมมือจากประชาชนอย่าซื้อสัตว์มาเลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ป่าแปลกๆ ประเภท ลิง ค้างคาว ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพาหะของเชื้อโรคอีโบลาที่แพร่ระบาดไปสู่สัตว์ป่า เมื่อมีการบริโภคหรือเลี้ยงทำให้เกิดการติดต่อไปสู่คนและในปี 2557 โรคอีโบลาเกิดอุบัติการณ์สูงมากขึ้น" น.สพ.สรวิศ กล่าว

สำหรับมาตรการเฝ้าระวังในสัตว์ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.เพิ่มความเข้มงวดและเฝ้าระวังที่ด่านนำเข้าสินค้า ไม่ว่าจะเป็นด่านของกรมอุทยานฯ และกรมปศุสัตว์ ทั้งด่านท่าเรือ ด่านต่างประเทศ และด่านในประเทศ

2. ชะลอการนำเข้าสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์จากประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคอีโบลาทั้งที่นำเข้าทางท่าอากาศยาน ทางท่าเรือ และทางแนวชายแดน

3. จัดทำมาตรการและซักซ้อมแผนการเฝ้าระวังโรคอีโบลา รวมทั้งเตรียมความพร้อมวัสดุ อุปกรณ์ในการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสได้ จัดฝึกอบรมและให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ

4. ให้ทีมสุนัขดมกลิ่นเข้มงวดและกวดขันการปฏิบัติการตรวจสอบผู้โดยสารและสัมภาระในเที่ยวบินที่มาจากประเทศที่มีรายงานการระบาดและประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการระบาดของโรค

5. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานความร่วมมือกันเป็นเครือข่าย One Health ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร

6. คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ร่วมกันจัดทำการสื่อสารให้ความรู้ เช่น แผ่นพับ โปสเตอร์ Call Center ฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจำลองสถานการณ์ในกรณีเจอสัตว์ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือสัตว์ที่ตรวจพบเชื้อ เป็นต้น

7. จัดทีมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป เช่น ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ป่า ไม่ลักลอบนำเข้าสัตว์มาภายในประเทศ โดยมีการเผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางต่างๆ, วิทยุ จส.100 และทาง facebook


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ