มท.1 เตือน 25 จ.พื้นที่เสี่ยงรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง-ลมกระโชกแรง 12–15 ก.พ.

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2015 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.1) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 12 – 15 ก.พ.58 คลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศพม่าเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด 25 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร นครพนม มุกดาหาร หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และอุดรธานี รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 6 ขอนแก่น เขต 7 สกลนคร เขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 14 อุดรธานี เขต 15 เชียงราย เตรียมพร้อมรับมือวาตภัย ซึ่งมีลักษณะอากาศแปรปรวน พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ในช่วง 3 – 4 วันนี้ ในการจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีสถานการณ์รุนแรงได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการอพยพและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ ในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 25 จังหวัดดังกล่าวให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย อย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อาจเกิดฟ้าผ่าทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้

ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ห้ามจอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ