กท.โพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์หนุนรัฐเก็บภาษีที่ดิน แต่ขยับฐานบ้านเกิน 3 ลบ.

ข่าวทั่วไป Wednesday March 25, 2015 09:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพโพลล์ เผยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่สนับสนุนแนวคิดในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เสนอให้ยกเว้นการเก็บภาษีจากบ้านที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และที่ดินเกษตรกรรมของเกษตรกรตัวจริง พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน แต่ไม่เชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ช่วยพัฒนาการเมืองท้องถิ่นและลดความเหลื่อมล้ำ

โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.5 เห็นด้วยกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่พอจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐในการใช้พัฒนาประเทศ พัฒนาท้องถิ่น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีกร้อยละ 20.0 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าควรเน้นเก็บภาษีเฉพาะกับผู้มีที่ดินจำนวนมาก มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีบ้านราคาแพงๆ รวมถึงเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดีจึงเป็นภาระกับผู้มีรายได้น้อย แต่ผู้มีรายได้สูงไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 เห็นว่าการกำหนดให้ยกเว้นการเสียภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทนั้นยังไม่เหมาะสม โดยเห็นว่าควรยกเว้นในระดับที่สูงกว่านี้ที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 33.8 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว

สำหรับอัตราภาษีที่อยู่อาศัยที่เก็บ 0.1% ของราคาประเมินนั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 10.8 เห็นว่าไม่เหมาะสม และนักเศรษฐศาสตร์อีกร้อยละ 17.0 เห็นว่าควรใช้อัตราก้าวหน้าในการจัดเก็บ

ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรม 0.05% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.5 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินไป อีกทั้งเกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอนและค่อนข้างต่ำจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ลดลง สร้างต้นทุนและภาระให้กับเกษตรกร ดังนั้นจึงควรเว้นภาษีสำหรับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการเกษตร แต่ควรมีมาตรการกับนายทุนหรือผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง ขณะที่มีนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 32.3 เห็นด้วย

ส่วนแนวคิดการนำรายได้ส่วนหนึ่งจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อช่วยประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.8 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 33.8 ไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 56.9 ยังมีความเห็นว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้ช่วยลดการซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไร, ร้อยละ 46.2 เห็นว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เก็บจากคนในท้องถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ได้ช่วยให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการใช้เงินงบประมาณ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น, ร้อยละ 32.3 เห็นว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คนในท้องถิ่นจ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นไม่มีส่วนทำให้การเมืองท้องถิ่นมีการพัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม, ร้อยละ 50.8 เห็นว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ช่วยสร้างความเป็นธรรม หรือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้อย่างมีนัยสำคัญ, ร้อยละ 43.1 เห็นว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ลดที่ดินรกร้างว่างเปล่า

ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ จัดทำโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 65 คน ในหัวข้อ "ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ระหว่างวันที่ 13-20 มีนาคมที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ