GISTDA เผยช่วงนี้-ปลายก.ค.เริ่มมีสัญญาณฝน แต่ยังน้อย ห่วงเอลนีโญรุนแรงช่วงพ.ย.

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2015 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กล่าวว่า จากการติดตามด้วยดาวเทียมพบว่าตั้งแต่เที่ยงวันนี้มีฝนตกกระจายในหลายพื้นที่ แต่ฝนแบบนี้เกิดขึ้นจากร่องความกดอากาศต่ำขนาดเล็กที่ถูกเหนี่ยวนำจากพายุในประเทศจีนเวลานี้ ลักษณะแบบนี้ เป็นสัญญาณที่ดีแสดงว่ากระบวนการการเกิดฝนตามฤดูกาลมาแล้ว และคาดว่าจะมีฝนต่อเนื่องไปอีก 2-3 วันหลังจากนั้นอาจจะหายไปช่วงหนึ่งแต่คงไม่นาน เพราะขณะนี้สัญญาณของภูมิภาคที่เป็นตัวบอกว่าฤดูฝน กระบวนการเกิดฝนเข้าสู่ภาวะปกติ คือ ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นในประเทศจีนเริ่มชัดเจนแล้ว

นอกจากนี้หย่อมความกดอากาศต่ำในมหาสมุทรแปซิฟิคที่จะก่อตัวเป็นพายุกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ค่อนข้างจะมากกว่าช่วงปกติของเวลาเดียวกันด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเรายังเชื่อว่าในภูมิภาคแปซิฟิคตะวันตกปีนี้น่าจะยังมีไต้ฝุ่นหรือพายุโซนร้อนได้อีกหลายลูก ประกอบกับหย่อมความกดอากาศสูงใกล้ๆประเทศจีนก็จะทำให้โอกาสที่จะมีพายุเข้ามาใกล้ๆประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นว่าพายุจะต้องผ่านประเทศไทย เข้ามาอยู่ใกล้ก็มีโอกาสเหนี่ยวนำให้เกิดฝนได้

ทั้งนี้ ในช่วงปัจจุบันจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมจะมีฝนเป็นระยะๆ แต่เป็นลักษณะฝนกระจาย ซึ่งจะดีต่อพื้นที่การเกษตรแต่ยังไม่พอที่จะทำให้น้ำเข้าอ่าง น้ำที่จะเข้าอ่างต้องมาจากร่องฝนขนาดใหญ่ หรือร่องมรสุมที่จะเคลื่อนที่มาจากประเทศจีนราวๆเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป และจะพาฝนจำนวนมากเข้ามาตามที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึงรวมถึงใช้ประโยชน์สำหรับภาคการเกษตรด้วย

"ปริมาณน้ำที่เราคาดหวังว่าพอสิ้นฤดูฝนคือประมาณ 3,500 ล้านลบ.ม. เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งก็มีโอกาสเป็นไปได้อย่างสูง"

นายอานนท์ กล่าวถึงภาวะเอลนีโญ ว่า ประเทศไทยเผชิญภาวะเอลนีโญมานานหลายเดือนแล้ว แต่คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและจะไปถึงจุดสูงสุดประมาณเดือนพฤศจิกายน คือปลายฤดูฝน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ฤดูฝนหมดเร็วกว่าปกติได้เล็กน้อยซึ่งจะมีปัญหาคือผลผลิตการเกษตรที่ใกล้ช่วงเก็บเกี่ยวจะต้องมีการสำรองน้ำไว้ ทำแหล่งน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงปลายฤดูฝนด้วย ที่สำคัญคือจะส่งผลไปถึงฤดูแล้งปีหน้า

"เพราะฉะนั้นการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งปีหน้าเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน...ไม่ควรอย่างยิ่งเลย"นายอานนท์ กล่าว

ส่วนพื้นที่ภาคอีสานมีการทำเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่ต้นเดือนก.ค.มีเพียง 1-2 ล้านไร่ แต่ 15 วันผ่านมา เพิ่มาอยู่ที่เกือบ 20 ล้านไร่แล้ว แต่เป็นการทำการเกษตรตามฤดูกาล แต่อาจจะมีความเสี่ยงฝนทิ้งช่วงบ้างแต่ไม่น่าจะรุนแรง

ส่วนพื้นที่ภาคกลางขณะนี้มีพื้นที่ปลูกพืช 4 ล้านกว่าไร่เพิ่มขึ้นมาจากช่วงเดือนมิ.ย.ที่มีอยู่ประมาณ 3.44 ล้านไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ