กรมป้องกันฯ เร่งระบายน้ำ-สูบน้ำท่วมขัง หลังน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมหลายพื้นที่ใน 16 จ.

ข่าวทั่วไป Thursday September 29, 2016 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับมีปริมาณน้ำจากฝนตกสะสม ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 16 จังหวัด รวม 54 อำเภอ 289 ตำบล 1,405 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด 32 อำเภอ 225 ตำบล 1,280 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.สิงห์บุรี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี และอำเภอเมืองสิงห์บุรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 138 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 11,139 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

จ.อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอแสวงหา และอำเภอโพธิ์ทอง ประชาชนได้รับผลกระทบ 725 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 3,644 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร และอำเภอบางปะอิน รวม 74 ตำบล 492 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,170 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 50 - 100 เซนติเมตร

จ.อุทัยธานี น้ำในแม่น้ำตากแดดเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอบ้านไร่ อำเภอทัพทัน และ อำเภอเมืองอุทัยธานี รวม 9 ตำบล 40 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 595 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 10,081 ไร่ สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ยกเว้นอำเภอเมืองอุทัยธานี ยังมีน้ำท่วมสูง 30 – 50 เซนติเมตร

จ.ลพบุรี น้ำท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี และอำเภอบ้านหมี่ รวม 8 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,040 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 5,000 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์ในอำเภอบ้านหมี่คลี่คลายแล้ว

จ.นครสวรรค์ น้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตาคลี อำเภอลาดยาว อำเภอไพศาลี อำเภอท่าตะโก อำเภอชุมแสง อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหคีรี อำเภอหนองบัว และอำเภอแม่วงก์ ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,339 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

จ.ชัยนาท น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในอำเภอสรรพยา รวม 7 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 850 ครัวเรือน 2,250 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 14,962 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว สูงประมาณ 20 – 60 เซนติเมตร

จ.สุพรรณบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 323 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

ภาคเหนือ 4 จังหวัด 13 อำเภอ 43 ตำบล 79 หมู่บ้าน แยกเป็น จ.พิจิตร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางมูลนาก อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอสามง่าม และอำเภอโพทะเล ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ยกเว้นอำเภอโพทะเล ระดับน้ำทรงตัว

จ.พิษณุโลก น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอบางระกำ ประชาชนได้รับผลกระทบ 389 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 8,780 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

จ.เพชรบูรณ์ น้ำจากแม่น้ำป่าสักเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอหล่มเก่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหนองไผ่ และอำเภอชนแดน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 130 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ยกเว้นอำเภอชนแดน ระดับน้ำลดลง

จ.กำแพงเพชร น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปางศิลาทอง และอำเภอขาณุวรลักษบุรี ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี ระดับน้ำลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 3 จังหวัด 8 อำเภอ 15 ตำบล 18 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.นครราชสีมา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอพระทองคำ อำเภอพิมาย อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอด่านขุนทด และอำเภอโนนไทย รวม 12 ตำบล 18 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 690 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,810 ไร่ ยังคงมีสถานการณ์ในอำเภอเมืองนครราชสีมา ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

จ.ชัยภูมิ น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อำเภอจัตุรัส ประชาชนได้รับผลกระทบ 600 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับทรงตัว

จ.อุบลราชธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ประชาชนได้รับผลกระทบ 30 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

ภาคใต้ รวม 1 จังหวัด 1 อำเภอ 6 ตำบล 20 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี น้ำจากคลองอิปันล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอพระแสง รวม 6 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 259 ครัวเรือน 1,155 คน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมประสานการระบายน้ำกับหน่วยชลประทานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ชุมชนเขตเศรษฐกิจ เพื่อสูบน้ำที่ท่วมขังไปยังพื้นที่รองรับน้ำ อีกทั้งแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ประชาชน รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบน อำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนย้ายสิ่งของแก่ประชาชน ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ