ครม. รับทราบแนวทางเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 60

ข่าวทั่วไป Tuesday March 28, 2017 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2560 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ซึ่งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการจังหวัด ทุกจังหวัด เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2560 โดยให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1. จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนรวบรวมปัญหา และข้อเท็จจริงเป็นฐานข้อมูลกลางให้ส่วนราชการใช้ร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ และให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่นขึ้น พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ และแบ่งมอบหน้าที่การปฏิบัติอย่างชัดเจนและเป็นระบบโดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

1.1 การลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง เช่น (1) ทบทวน จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัดให้สอดรับกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (2) จัดเตรียมกำลังคน สำรวจวัสดุ อุปกรณ์ รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งไว้ให้พร้อมใช้การได้ทันที (3) ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

1.2 การจัดการในภาวะฉุกเฉินเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ ให้ดำเนินการ เช่น (1) ให้หาวิธีเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำสำคัญที่ประชาชนใช้ประโยชน์ (2) ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย (3) พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 รวมทั้งหลักเกณฑ์แนวทางที่กำหนด เป็นต้น

2. เพื่อให้การรายงานสถานการณ์ภัยแล้งเป็นไปอย่างถูกต้อง และตรงกับข้อเท็จจริง จึงให้จังหวัดดำเนินการ ดังนี้

การประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งของจังหวัด ให้พิจารณาประกาศพื้นที่ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยแยกเป็นรายตำบลเฉพาะหมู่บ้านที่มีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น

2.2 ข้อมูลจำนวนราษฎรและครัวเรือนที่ประสบภัยแล้ง ให้รายงานตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเฉพาะครัวเรือนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนเท่านั้น

2.3 ข้อมูลพื้นที่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแล้วและที่คาดว่าจะเสียหาย ให้ประสานข้อมูลกับสำนักงานเกษตรจังหวัด โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นหลัก

3. ให้สรุปสถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือที่ได้ดำเนินการแล้วในด้านต่างๆ และจัดส่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกวันจันทร์ โดยเริ่มรายงานครั้งแรกในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะเข้าสู่สภาวะปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ