กรมควบคุมโรค เตือนเลี่ยงเดินลุยน้ำท่วมห่วงเป็นโรคเมลิออยโดสิส เผยปีนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย

ข่าวทั่วไป Friday June 9, 2017 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูฝน หลายพื้นมีฝนตกอย่างต่อเนื่องและบางแห่งอาจเกิดน้ำท่วมได้ ซึ่งในช่วงนี้โรคที่ประชาชนควรระมัดระวังอีกโรค คือ "โรคเมลิออยโดสิส" เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งอยู่ในดินและแหล่งน้ำนิ่ง ติดต่อทางบาดแผล ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป รวมถึงการหายใจเอาละอองอากาศที่มีเชื้อเข้าไป ที่สำคัญมักจะพบผู้ป่วยโรคนี้มากในช่วงหน้าฝน และพบในผู้ใหญ่มากกกว่าเด็ก ซึ่งในประเทศไทยจะพบผู้ป่วย 2,000 - 3,000 รายต่อปี

สถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 4 มิ.ย.60 มีรายงานผู้ป่วย 1,216 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้ป่วย 49.8% อยู่ในอาชีพเกษตร กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุด ได้แก่ อายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 55-64 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี

ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยตลอดทั้งปี 3,108 ราย และเสียชีวิต 9 ราย โดยผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุ 35 ปีขึ้นไป) พบถึง 2,543 ราย คิดเป็น 82% ของผู้ป่วยทั้งหมด

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า โรคเมลิออยโดสิส ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่มีมานานแล้ว ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการได้รับเชื้อ บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจเสียชีวิตได้ โดยอาการที่พบ คือมีไข้เป็นเวลานาน มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม หรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเรื้อรัง วัณโรค เบาหวาน โรคไต โรคเลือด มะเร็ง และภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ส่วนการป้องกันโรค มีดังนี้ หลีกเลี่ยงการลุยน้ำเป็นเวลานานโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ไม่สัมผัสกับดินและน้ำในพื้นที่ที่เกิดโรคประจำ หากมีแผลและสัมผัสดินหรือน้ำในบริเวณนั้น ต้องรีบทำความสะอาดทันที โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือใส่รองเท้าบู๊ทเมื่อจำเป็นต้องเดินลุยหรือย่ำน้ำเป็นเวลานาน ดื่มน้ำต้มสุก และหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ ที่สำคัญหากมีอาการไข้เกิน 5 วันหรือเกิดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรจะรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ