กรมควบคุมโรค ระบุมีโอกาสพบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษเพิ่มขึ้นหลังเข้าฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Sunday September 24, 2017 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์" ฉบับที่ 127 ประจำสัปดาห์ที่ 39 (วันที่ 25 ก.ย. – 1 ต.ค. 60) จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.ย. 60 พบผู้ป่วย 972 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 45-54 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 55-64 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ข้อมูลในปีนี้ พบเหตุการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ จำนวน 24 เหตุการณ์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ 1 ราย (จ.อำนาจเจริญ) เป็นเห็ดป่าไม่ทราบชนิด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนจากการรับประทานเห็ดพิษ 2 เหตุการณ์ อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ 3 ราย และอีก 4 ราย อยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ทุกรายได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และหายเป็นปกติแล้ว

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นช่วงฤดูฝนมีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้มีเห็ดป่าเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือที่นิยมเก็บเห็ดป่ามารับประทานร่วมกัน สำหรับเห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต คือ เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ตายซาก(ภาษาอีสาน) หรือเห็ดโม่งโก้ง เห็ดไข่ห่าน(ภาษาเหนือ) จะเป็นเห็ดพิษในตระกูลอะมานิตา มีสารพิษทำให้ตับและไตล้มเหลวได้ เห็ดพิษเหล่านี้มีสารพิษที่ทนต่อความร้อนแม้ปรุงสุกดีแล้วก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ระมัดระวังการเก็บเห็ดป่ามารับประทาน และเลือกเห็ดจากการเพาะปลูกมาประกอบอาหารเพื่อความปลอดภัย ไม่รับประทานเห็ดไข่ห่าน เห็ดระโงก หรือเห็ดระงากที่ยังเป็นดอกอ่อน ที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ซึ่งแยกได้ยากจากเห็ดที่กินได้ อาจมีเห็ดพิษปะปนมาด้วย ไม่ควรใช้ประสบการณ์หรือภูมิปัญญาชาวบ้านทดสอบและสังเกตแยกชนิดของเห็ด ควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดป่าพร้อมการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้สารพิษแพร่กระจายในร่างกายเร็วขึ้น หากมีอาการหลังรับประทานเห็ดแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว จะต้องรีบไปพบแพทย์ร่วมกับการให้ประวัติการรับประทานเห็ดทั้งชนิดและปริมาณแก่แพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ