(เพิ่มเติม) นายกฯ ย้ำกัมพูชาต้องถอนทหารจากพื้นที่ทับซ้อนก่อนผู้สังเกตูการณ์เข้ามา

ข่าวการเมือง Tuesday May 10, 2011 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ถ้ากัมพูชาไม่ถอนทหารออกจากบริเวณข้อพิพาทในพื้นที่ของไทยที่กัมพูชาอ้างสิทธิด้วย ก็จะไม่ให้ส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในส่วนการผลหารือสามฝ่าย(ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย) นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้รายงานให้ทราบแล้ว โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสัปดาห์หน้าต่อไป

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุม ครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เล่าบรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา กรณีที่ได้กล่าวตอบโต้สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หลังมีการกล่าวหาว่าถูกไทยรุกราน

"ตอนเริ่มต้นมีการให้รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและกัมพูชาไปหารือกันก่อน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อตกลง แต่ต่อมาเมื่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเริ่มต้นขึ้นจริงสมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา กลับนำแถลงการณ์ยาว 1 หน้ากระดาษมาอ่านกล่าวหาฝ่ายไทยว่าไปรุกรานกัมพูชา ต่อมามีการพักการประชุม จนประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้เชิญผมและสมเด็จฮุนเซนไปคุย แต่ผมขอยังไม่คุย

พอเปิดการประชุมรอบสองผมจึงได้ตอบโต้ทางกัมพูชาไป ซึ่งตอนที่เถียงกัน นายกฯกัมพูชาพูดในทำนอง เขาคงไม่โง่ที่จะไปทำอย่างนั้น ถ้าเขาจะเอาทหารไปไว้ในพื้นที่ปราสาทตาควายและตาเมือนธมที่ห่างจากจุดพิพาทบริเวณประสาทพระวิหาร ซึ่งสถานที่เกิดเหตุ 2 แห่ง ห่างกันเป็นร้อยกิโลเมตร ผมก็ได้ย้อนไปด้วยว่าคุณโง่หรือเปล่า ถ้าไม่โง่ก็ไม่ควรจะทำ

พอจบการประชุมแล้วจึงต้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและกัมพูชาประชุมต่อกันอีก 1วัน ซึ่งคุณกษิต ภิรมย์ ได้โทรศัพท์รายงานผมแล้ว และต้องนำเสนอ ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรี

แหล่งข่าว กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ระบุว่าเรื่องการดำเนินการของคณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดเนีเซียคงต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันก่อนที่จะจัดทำร่างทีโออาร์คณะผู้สังกตุการณ์ฯ โดยให้มีการส่งบุคคลที่จะเข้ามาสำรวจหรือตรวจสอบในพื้นที่ก่อน แต่ไม่ใช่คณะผู้สังเกตุการณ์ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการให้ถอนกำลังทหาร เสร็จแล้วถึงจะมาว่ากันในขั้นการร่างทีโออาร์ แล้วค่อยดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อเจรจาปัญหาไทย-กัมพูชา ได้กล่าวโต้แย้งว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีคณะบุคคลเข้ามาตรวจสอบ แม้จะยังไม่ใช่คณะผู้สังเกตุการณ์ เพราะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากฝ่ายกัมพูชาเจ้าเล่ห์อาจจะเอาไปใช้เป็นข้ออ้างได้ จึงอยากให้เคลียร์ตรงนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าปัญหาทั้งหมดไม่ว่าเรื่องปราสาทตาควาย ตาเมือนธม หรือพื้นที่พิพาทรองปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.จะต้องเจรจาในครั้งเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องวางแนวทางในการต่อสู้คดีต่อศาลโลกต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ