เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.: นิด้าโพลเผยคนกรุงสนใจตัวบุคคลมากกว่านโยบาย

ข่าวการเมือง Monday February 4, 2013 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "เหตุผลของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกผู้ว่าฯ กทม." พบว่าเหตุผลที่ คนกทม.ตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.เรียงตามลำดับหมายเลขสามารถสรุปได้ ดังนี้

หมายเลข 6 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง คน กทม. ร้อยละ 50.00 ระบุว่ามีนโยบายที่ดี นโยบายน่าสนใจ และเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค ในสัดส่วนที่เท่ากัน

หมายเลข 9 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ คน กทม.ร้อยละ 43.60 ระบุว่าชอบที่ตัวบุคคล ทำงานเก่ง มีวิสัยทัศน์ และมีประสบการณ์ รองลงมา ร้อยละ 19.53 สามารถทำงานและประสานงานร่วมกับรัฐบาลได้ดี ร้อยละ 18.01 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ และร้อยละ 12.63 ชอบพรรคการเมือง (พรรคเพื่อไทย)

หมายเลข 10 นายโฆสิต สุวินิจจิต คน กทม.ร้อยละ 40.00 ระบุว่าชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์ และมีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 20.00 เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค

หมายเลข 11 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส คน กทม.ร้อยละ 37.74 ระบุว่าชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีประสบการณ์ รองลงมา ร้อยละ 25.47 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 17.92 เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค (กลุ่มพลังกรุงเทพฯ) และร้อยละ 11.32 อยากให้โอกาสคนอื่นๆ ลองเข้ามาทำงานดูบ้าง

หมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร คน กทม.ร้อยละ 34.13 ระบุว่าชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีประสบการณ์ รองลงมา ร้อยละ 28.29 สามารถสานต่อนโยบายเดิมได้ต่อเนื่อง ร้อยละ 18.36 ชอบพรรคการเมือง (พรรคประชาธิปัตย์) และร้อยละ 15.33 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ

หมายเลข 17 นายสุหฤท สยามวาลา คน กทม.ร้อยละ 34.38 ระบุว่าชอบตัวบุคคล เก่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รองลงมา ร้อยละ 31.24 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ และร้อยละ 28.13 เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค

นายสุรสิทธิ์ วชิรขจร คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ถ้ามองในภาพรวมแล้วคนกรุงเทพฯ ยังให้ความสนใจที่ตัวบุคคลมากกว่าปัจจัยเรื่องของนโยบาย เมื่อเปรียบเทียบจากผลสำรวจในครั้งก่อนๆ ที่คะแนนความนิยมถือว่าสูสีกัน ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โดยเฉพาะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่จะเห็นได้ชัดเจนมากกว่าอาจเป็นเพราะว่าเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ และในช่วงแรกได้ออกนโยบายหาเสียงมาตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าเปรียบเทียบเช่นเดียวกันกับสินค้า ถือเป็นสินค้าชนิดใหม่ที่มีความน่าสนใจ

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นสินค้าเดิมที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว แต่จากเท่าที่สังเกตตามป้ายหาเสียงมองว่านโยบายยังไม่ค่อยมีความชัดเจนและเป็นไปได้ยาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์นั้น ถ้าในแง่ตัวบุคคลถือว่ามีประสบการณ์มากกว่า แต่นโยบายก็ยังเป็นของเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่มีโอกาสทำได้ จึงทำให้สัดส่วนของผู้ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายค่อนข้างน้อย แต่หากพิจารณาปัจจัยเรื่องของพรรคการเมืองที่คน กทม.ชอบม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มาจากคะแนนความนิยมที่เป็นฐานเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าได้เปรียบกว่าพรรคเพื่อไทย

"ยังมีบางส่วนที่ยังไม่แน่นอน คงต้องจับตารอดูไปสักอีกระยะหนึ่ง ส่วนผู้สมัครพรรคอิสระรายอื่นนั้น มองว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก" นายสุรสิทธิ์ กล่าว

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,503 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-29 ม.ค.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ