"บวรศักดิ์"เสนอโมเดลปฏิรูปยึดหลักนิติธรรม,"ชวน"เตือนศาลอย่าหวั่นไหว

ข่าวการเมือง Thursday April 24, 2014 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวในการสัมมนาวิชาการเนื่องในวันครบรอบ 16 ปีศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง"การปฎิรูปการเมืองภายใต้หลักนิติธรรม"ว่า เสนอแนวทางการปฏิรูปด้านความเป็นธรรม คือ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายทรงธรรมเหนือองค์ทุกองค์ที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งต้องมีการลงประชามติจากประชาชน และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยทุกครั้ง และต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาทุกครั้งก่อนการลงประชามติ

การปฏิรูปต้องไม่ทำตามอำเภอใจของทุกองค์กร ในระบอบประชาธิปไตยมิอาจปฏิเสธหลักนิติธรรมได้ เพราะเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักธรรมชาติ ปราศจากอคติ ซึ่งทุกองค์กรต้องยึดในแนวทางปฏิบัติ ดังนั้นหลักนิติธรรมจึงอยู่เหนือกฎหมาย

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปใหม่จะต้องจัดการผลประโยชน์ ยกเลิกประชานิยมเปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการ รัฐธรรมนูญ การหาเสียงประชานิยมต้องระบุค่าใช้จ่ายในนโยบายอย่างละเอียด หัวหน้าพรรคที่มีเสียงในรัฐสภาต้องดีเบตนโยบายประชานิยมทางทีวี และต้องกำหนดว่าการกู้เงินของรัฐบาล ต้องทำเพื่อลงทุนเท่านั้น จะไปกู้เงินมาใช้เรื่องอื่นไม่ได้ พร้อมกันนี้ต้องจัดตั้งองค์กรจัดสรรทรัพยากร ที่มีอำนาจในการเสนอแนะและจัดสรรให้แก่ประชาชน โดยตราเป็นกฎหมาย

ควรปฏิรูปการแบ่งแยกอำนาจจากพรรคการเมืองและกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากพรรคการเมือง ส่วนวุฒิสภามาจากผู้แชี่ยวชาญจากสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อคานอำนาจกัน และยกเลิกให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคเพื่อให้อิสระในการทำงาน พร้อมกันนี้ต้องมีการคุ้มครองฝ่ายเสียงข้างน้อยทางการเมือง ให้สิทธิข้าราชการตั้งสหภาพเพื่อตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร และจัดประเมินเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภา

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ต้องปฏิรูปสื่อให้เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐและนายทุน และจากนี้ต้องยุติสื่อมวลชนที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง สื่อมวลชนเลือกข้าง นอกจากนั้น ต้องออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้นทาง คือ ตำรวจ

"เราไม่อยากเห็นคนไทยตั้งกองกำลังรักษาตนเองถ้ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และคนไทยก็ไม่จำเป็นต้องตั้งกองกำลัง ถ้ารัฐเป็นผู้พิทักษ์กฏหมายเสียเอง"นายบวรศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวสถานการณ์ในขณะนี้ไม่ปกติธรรมดา เป็นปรากฏการณ์ที่สถาบันศาลต้องพบ แต่ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ในอนาคตคงไม่มีอะไรที่เลวร้ายไปกว่านี้ นักกฎหมายมีความเชื่อว่าการปกครองที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน ต้องจบลงที่การยึดกฎเกณฑ์กติกา โดยทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและหลักนิติธรรมเดียวกัน แต่หากกฎเกณฑ์ไม่ดีก็แก้ไขได้

ส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องที่มีคนพยายามจ้องทำร้ายศาล จึงขอให้กำลังใจและขอให้เชื่อมั่นถึงการทำสิ่งที่ถูกต้อง และอย่าได้หวั่นไหว เพราะประสบการณ์จะเป็นตัวชี้วัดอุดมการณ์และความมั่นคง พร้อมขอให้ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชน ทำสิ่งที่ถูกให้ถูก อย่ากลัวในการทำสิ่งที่ถูกต้อง อย่าไปกลัวเรื่องการถูกคุกคาม โดยเฉพาะคุกคามด้วยวิธีการเสนอผลประโยชน์

ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า การจะหวังพึ่งศาลเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ศาลถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญ ทั้งนี้กระบวนการก่อนมาสู่ศาลก็มีความสำคัญเช่นกัน จึงเป็นที่มาว่าจะปฏิรูปองค์กรต่างๆ เหล่านั้นอย่างไร โดยเห็นว่าความเป็นมืออาชีพสำคัญกับทุกงานที่ทำ เพราะฉะนั้นความเป็นมืออาชีพของตุลการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และองค์กรอื่นๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น

นายชวน กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบริหารประเทศด้วยการยึดหลักกฎหมายหลักนิติธรรม ไม่เคยทำให้บ้านเมืองมีปัญหา แต่ในทางตรงกันข้าม หากบริหารบ้านเมืองตามอำเภอใจจะสร้างแต่ปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เกิดจากการบริหารโดยขาดหลักนิติธรรม มีแนวคิดฝึกอาวุธให้คนในพื้นที่ ขณะที่ส่วนตัวเชื่อว่ ตำรวจทราบตัวผู้ก่อความไม่สงบแต่ไม่กล้าดำเนินการ เพราะหวั่นกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่

อย่างไรก็ตาม นายชวน ยังระบุว่า การไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลและนิติธรรมได้ลามไปถึงสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ดังนั้นเห็นว่าต้องมองกว้างไปกว่าหลักนิติธรรม ดูสิทธิความชอบธรรมที่ควรได้รับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ