"บวรศักดิ์" คาดกระบวนการยกร่างรธน.ฉบับใหม่ใช้เวลาประมาณ 11 เดือน

ข่าวการเมือง Thursday July 24, 2014 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง "การปฏิรูปประเทศไทย การเข้าสู่อำนาจสมาชิกรัฐสภา ภายใต้โครงการสัมมนาสู่ทศวรรษที่ 9 ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมเสนอแนวทางปฏิรูปและออกแบบการเดินหน้าประเทศไทย โดยมั่นใจว่า สถาบันพระปกเกล้าจะรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ มาประมวลผลเพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ทั้งนี้คาดหวังว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่จะไม่พบการทุจริต เพราะที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าการเมืองไทยมีการซื้อเสียง ตนเองจึงหวังว่าการเมืองไทยหลังจากนี้ไปอีก 20 ปีจะเป็นการเมืองในรูปแบบใหม่ๆ และเกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งอีกไม่นานจะมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงอยากให้ทุกคนช่วยออกแบบด้วย

"จะใช้รูปแบบต่างประเทศในไทยคงไม่ได้ เพราะคนไทยไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ ก่อนหน้านี้ผมไปหย่อนบัตรเลือกตั้งทั้งน้ำตา เพราะคนที่เลือกผมก็ไม่ชอบ แต่อีกคนไม่ชอบมากกว่า จึงหวังว่า อีก 20 ปีข้างหน้าน่าจะหย่อนบัตรด้วยความสบายใจ เพราะจะเปิดโอกาสให้นักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาบ้าง" พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า คาดว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะใช้เวลาประมาณ 11 เดือน ซึ่งมีองค์กรหลัก ไม่ว่าจะเป็น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีส่วนขับเคลื่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ทั้งนี้หวังว่าการหารือในวันนี้จะนำข้อไปสู่การปฏิรูปใน 5 ประเด็น คือ 1.การปฏิรูปถ่วงดุลอำนาจ หรือการได้มาของสมาชิกรัฐสภา 2.การปฏิรูปการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น 3.การปฏิรูปให้เกิดความสุจริต โปร่งใส ป้องกันการทุจริต 4.การปฏิรูปให้พลเมืองมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม และ 5.ปฏิรูปความสัมพันธ์ของฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการอย่างเป็นรูปธรรม

"จะนำความเห็นทั้งหมดเข้าสู่การประชุมของสถาบันพระปกเกล้าระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคมนี้ ก่อนที่จะนำความเห็นทั้งหมดเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป" นายบวรศักดิ์ กล่าว

หลังจากนั้นที่ประชุมได้มีการอภิปรายระดมความคิดเห็นต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศไทย การเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภา โดยนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง และทำให้การเมืองมีความเข้มแข็ง ซึ่งในส่วนของการปฏิรูปการเลือกตั้งนั้นจะสำเร็จได้ ต้องไปดูเรื่องการแก้กฎหมาย พร้อมฝากประเด็นเรื่องการเลือกตั้งให้สถาบันพระปกเกล้าไปศึกษาว่าควรมีการปรับปรุงระเบียบเลือกตั้งอย่างไรบ้าง เช่น เรื่องของรูปแบบสภาควรมีสภาเดียวหรือ 2 สภา รวมถึงจำนวน ส.ส. ที่ต้องให้สมดุลระหว่าง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เลือกตั้ง

นายประพันธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 และ ส.ส.เขต 375 คน ถือว่ามีความสมเหตุสมผล ส่วนที่มาของ ส.ส. จะเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวหรือเขตเดียวหลายเบอร์ก็อยากให้ระดมความเห็นโดยคำนึงถึงความเหมาะสม แต่สิ่งสำคัญการปฏิรูปในครั้งนี้ ควรเน้นเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาลงสมัคร ส.ส.ที่ควรกำหนดคุณสมบัติให้ดี ส่วนเรื่องของ ส.ว. 150 คนนั้นถือว่าเหมาะสม แต่ควรกำหนดคุณสมบัติในทำนองเดียวกับ ส.ส. เพื่อให้ประชาชนเลือกคนดีเข้ามา

นายประพันธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่กำหนดว่าจะต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อาจนำมากำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย หรือมีข้อเสนอให้คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือพ้นโทษตัดสิทธิทางการเมืองก็ไม่ควรให้สิทธิลงเลือกตั้งอีก หรือแนวคิด กกต.ให้เป็น ส.ส.แค่ 2 สมัย ห้ามเครือญาติลงสมัครพร้อมกันในคราวเดียว โดยข้อเสนอเหล่านี้น่าจะถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาเพื่อหาข้อสรุป

สำหรับการทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงกรอบระยะเวลาที่ คสช.กำหนดไว้ เพราะถ้าหากมีการทำประชามติต้องใช้เวลาอีกประมาณ 90 วัน ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นช้าลง แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และนำสู่ความปรองดองและเกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง

ส่วนนายปณิธาณ วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของการเข้าถึงอำนาจว่าปัจจุบันการเข้าสู่อำนาจขึ้นอยู่กับคนส่วนน้อย และเป็นคนหน้าเดิมๆ คนที่มาลงสมัครรับเลือกตั้งมีเพียงกลุ่มเดียว และตัวแทนที่ได้มักไม่มีคุณภาพเมื่อเข้ามาสู่อำนาจแล้วมักมีอำนาจมาก ตรวจสอบยาก กลายเป็นคนมีบารมี จึงอยากฝากประเด็นเหล่านี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช. ให้มีส่วนร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของที่มาเหล่านั้นด้วย

นายปณิธาน กล่าวว่า ในอนาคตการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นควรประกอบไปด้วยพรรคการเมืองใหญ่เพียง 2 พรรค หรือจะเป็น 2 พรรคใหญ่กับ 10 พรรคเล็ก หรือจะให้ความสำคัญทุกพรรคเท่าเทียม ขณะที่คุณสมบัติของผู้เข้าสู่อำนาจเป็นเรื่องสำคัญ โดยสิ่งที่จะช่วยได้คือการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตของบุคคลให้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการทำประชามติภายหลังยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ถือเป็นสิ่งชี้วัดได้ระดับหนึ่งว่า ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ แต่จำเป็นต้องออกแบบการทำประชามติให้เกิดความรัดกุมเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาภายหลัง

สำหรับการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการทุจริต สามารถทำได้ด้วยการร่างกฏหมายใหม่เน้นการพัฒนาคุณภาพของคน เพื่มบทบาทภาคสังคมให้เข้ามามีส่วนในการช่วยกันตรวจสอบการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา นอกจากนั้นก็สามารถปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง

ขณะที่มาตรการตัดสิทธิ์เลือกตั้งตลอดชีวิตหากพบว่ามีการทุจริตในการหาเสียงนั้น นายปณิธาน กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าจะเห็นผลได้จริงหรือไม่ เพราะแม้จะมีส่วนช่วยยับยั้งหรือป้องกันการทุจริตได้ แต่หากเกิดการผิดพลาดในการพิจารณาตัดสิน อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครนั้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ