"ประยุทธ์"ขอทุกฝ่ายวางใจ คสช.ใช้อำนาจสร้างความสงบสุขแก่ประชาชนและชาติ

ข่าวการเมือง Saturday July 26, 2014 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ" ชี้แจงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งได้ลงพระปรมาภิไธยแล้ว โดยฝ่ายกฎหมาย ได้แถลงสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศให้ทราบในรายละเอียดและหลักการสำคัญ ๆ ไปแล้วบ้าง ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถเดินไปตาม Road map ระยะที่ 2 ได้ตามกำหนด

ทั้งนี้ มีความจำเป็นต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ แต่ละฝ่ายให้ชัดเจน เพราะเป็นการใช้พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 2 เดือน จะเห็นได้ว่า คสช. พยายามที่จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ไม่ได้มุ่งใช้อำนาจในการทำร้ายใคร แต่ใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ความสงบสุขให้กับประชาชนและชาติบ้านเมือง ซึ่งก็คงมีทั้งผู้ที่ถูกใจและไม่ถูกใจบ้าง ที่ผ่านมา คสช. ปฏิบัติงานด้วยความเป็นธรรม มุ่งหวังแต่เพียงว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศชาติมั่นคงยั่งยืน ดังนั้น ทุกพวกทุกฝ่ายน่าจะร่วมมือกับ คสช. ในการทำงาน อย่ามองเฉพาะประชาธิปไตยอย่างเดียว ถ้ามองเฉพาะเรื่องนั้นจะไปเรื่องอื่นไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าท่านต่อต้านในทุกประเด็น บางอย่างที่ยังไม่เกิด ท่านเป็นห่วงแบบนั้นแบบนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาถือว่าเป็นบทเรียนรู้แล้ว ถ้าเราไม่ต้องการให้เกิดอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา เราต้องร่วมมือกันในวันนี้ เพื่อจะเดินไปในวันข้างหน้า ตรงนี้อยากจะเรียนว่า เป็นการบริหารงาน ของรัฐบาลใหม่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว

ทุกคนน่าจะมีความสบายใจที่มีการถ่วงดุล ดูแลทั้งรัฐบาลและ คสช. ซึ่งจะมีอำนาจที่เข้มแข็ง ในการสงบเรียบร้อยต่อสังคม และการตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกภาคส่วน วันนี้เป็นสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ ถ้าปกติแล้วคงเลิกแล้วกันทั้งหมด ยังไม่ปกติยังปฏิรูปไม่ได้ วันนี้เพียงแค่ลดความรุนแรงลง มาพบปะ หารือพูดคุยกัน เนื่องจากปัจจุบันยังมีคนที่ต่อต้านอยู่ มีการสร้างความเข้าใจผิด บิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งในและต่างประเทศ คสช. ได้พยายาม ที่จะชี้แจงถึงอย่างไรก็ยังที่มีคนที่ไม่เข้าใจอยู่ ผมจึงไม่ทราบว่า ไม่เข้าใจจริงหรือว่า ไม่จริง คือ เพื่อจะปกปิดหรือปิดบังหรือไม่ ซึ่งอยากจะขอร้องให้เลิก เพราะการตรวจสอบในปัจจุบันในเรื่องของขบวนการยุติธรรมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องขององค์กรอิสระก็ยังทำอยู่ ใครจะผิดจะถูกก็ว่ากันตรงนั้น

เรื่องสื่อ ผมต้องขอขอบคุณที่เข้าใจกัน ขอให้ผู้รับผิดชอบแต่ละสมาคม ได้ดูแลกัน อย่าให้มีการล่วงละเมิดโดยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่เป็นจริง หรือการให้ข่าวโดยไม่มีหลักฐาน ทั้งนี้ อยากให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวอ้าง ทั้งนี้ คสช. ไม่ได้มุ่งหวังที่จะใช้อำนาจเข้าไปควบคุมสื่อแต่ประการใด อยากให้ทุกสมาคมสื่อ และสื่อทุกประเภทมีความเข้มแข็ง และเป็นที่น่าเชื่อถือของสาธารณชนเท่านั้น

"ผมขอให้ สื่อ สมาคมนักข่าวไทย นักข่าวต่างประเทศ ได้เข้าใจการปฏิบัติงานของ คสช.ในระยะที่ 2 จำเป็นต้องให้เกิดความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด หากท่านไม่ได้มีเจตนาให้ร้าย วิพากษ์วิจารณ์เกินกว่าเหตุ เจตนาไม่บริสุทธิ์ก็คงไม่มีใครไปทำอะไรท่านได้ ขอความร่วมมือด้วย เพราะท่านมีพลังในการจะทำให้สังคมสงบเรียบร้อยหรือวุ่นวายก็ได้ หากท่านมีเจตนาร่วมกันปฏิรูปประเทศ ท่านก็น่าจะเข้าใจ ในระยะที่ 2 ก็อยู่ในการปฏิรูปด้วยในกลุ่มหนึ่งคือ การปฏิรูปสื่อมวลชนทุกแขนง ท่านต้องเข้ามาช่วยเหลือร่วมกันด้วย"

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงานของ คสช. ด้านเศรษฐกิจ เรื่องแรก ที่สำคัญคือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีตัวแทนสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ตัวแทนสมาคมไทย-จีน ตัวแทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้เข้าพบหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ โดยทุกฝ่ายได้แสดงเข้าใจและได้รับทราบนโยบายของ คสช. ซึ่งน่าจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการค้าการลงทุนของทุกภาคส่วน และจะทำให้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต

เรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ขับเคลื่อนงานสำคัญ ๆ ไปหลายประการด้วยกัน ในด้านความร่วมมือด้านการค้าทั้งในกรอบ พหุภาคีและทวิภาคี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การประชุมหารือของฝ่ายอาเซียน การประชุมคณะกรรมการเจรจาทางการค้า สำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง การประชุมอาเซียน – เกาหลี เพื่อเจรจาเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม

เรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้าทางการเกษตรตามแนวชายแดน จากนโยบายของ คสช. ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เป็นเจ้าภาพ ในการหารือร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาดังกล่าวในภาพรวมทุกมิติ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดจุดเข้า-ออกสินค้า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ปริมาณ และประเภทของผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่เหมือนกัน การแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าสินค้า การควบคุมคุณภาพ การส่งออก รวมถึงระบบภาษี การลงทุน ความร่วมมือกับภาคเอกชน และข้อตกลงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ให้มีรายได้ และเป็นการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านไปพร้อมกันไปด้วย

เรื่องของการส่งเสริมการลงทุน ในห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้อนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 92 โครงการ มีวงเงินลงทุนจากภาคเอกชนประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการปลดล็อคโครงการที่ค้างการพิจารณาในห้วงที่บ้านเมืองมีปัญหามาได้ส่วนหนึ่ง

เรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรและแนวทางการกำกับดูแล กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีราคาเพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมามี 5 รายการ ได้แก่ ลำไยจากภาคเหนือ เนื่องจากโรงงานอบแห้งลำไยเข้ามารับซื้อ ทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น คงต้องระมัดระวังเรื่องของพ่อค้าคนกลางอาจจะมีการกดราคาอยู่บ้าง ก็ขอให้แจ้งมายังกระทรวงพาณิชย์ ผมได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ไปแล้วให้แก้ไขในเรื่องของการผูกขาด หรือการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ต้องพยายามแก้ให้ได้ เรื่องทุเรียน เงาะ ลองกอง จากภาคใต้ เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เพราะฉะนั้นมาตรการในการรักษาระดับเพิ่มราคาสินค้าในกลุ่มนี้ ยังคงใช้มาตรการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตให้ได้ในช่วงที่มีผลผลิตมาก รวมทั้งการผลักดันส่งออกทั้งตลาดเดิมและการหาตลาดใหม่ต่างประเทศ

เรื่องของกล้วยไม้ ขณะนี้แม้จะมีราคาเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ต่ำ เพราะว่าตลาดต่างประเทศมีความต้องการลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปซื้อกล้วยไม้พันธุ์ฟาแลนจากสิงคโปร์แทน รวมทั้งคุณภาพกล้วยไม้ไทยยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน จะส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถจะซื้อปุ๋ย หรือพัฒนาพันธุ์ให้ดีขึ้นได้

สำหรับมาตรการในการรักษาระดับเพิ่มราคากล้วยไม้ ทางรัฐจะสนับสนุนการวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีการปลูก การส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ และลดภาษีในการนำเข้าผงวุ้น เพื่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้

กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีราคาคงที่ จากสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 รายการ ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาคงที่ เนื่องจากความต้องการซื้อมันเส้นและแป้งมันยังคงมีต่อเนื่อง มาตรการในการเพิ่มระดับราคาของมันสำปะหลัง เนื่องจากอยู่ในช่วงการเพาะปลูกสำหรับฤดูกาลใหม่ จะเน้นการให้ความรู้ในการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งปัจจุบัน คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบาย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพื่อกำกับดูแลปริมาณ และเสถียรภาพราคา ให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนเต็มที่ เหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต๊อกของรัฐบาล

เรื่องอ้อยราคายังคงที่ เนื่องจากเราใช้วิธี “การประกาศกำหนดราคาอ้อย" ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ปีพ.ศ.2527 โดยการประกาศราคาล่าสุด เมื่อ 17 ธันวาคม 2556 ที่ราคาตันละ 900 บาท

ส่วนของมาตรการในการเพิ่มราคาของอ้อย เราจะเร่งพัฒนาอ้อยพันธุ์ดี ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งขยายอ้อยพันธุ์ดีให้เพียงพอกับความต้องการของชาวไร่อ้อย มีการแนะนำการปรับปรุงดิน การใช้ปุ๋ยเคมีที่จะต้องลดลง ให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น มีประสิทธิภาพ และต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลในทุกระบบ

สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มนักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลกได้มาร่วมงาน ASIAN SUGAR NIGHT IN BKK 2014 และได้เข้าพบกับคณะ คสช. ซึ่งผมได้ชี้แจงอธิบายถึงสถานการณ์ของไทยและยืนยันกับเขาว่า การดำรงความสัมพันธ์และการค้าขายกับกลุ่มนักธุรกิจเหล่านั้น เราจะดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามนโยบายการผลิตและส่งออกอ้อยและน้ำตาลของไทยจะต้องพิจารณาความต้องการของผู้ซื้อจากต่างประเทศและผู้ผลิตน้ำตาลดิบของไทย ตลอดจนนโยบายของรัฐบาล และจะต้องดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ประมาณ 3 แสนราย มีแรงงานอยู่เป็นล้านคน และโรงงานน้ำตาลมีถึง 50 โรงในปัจจุบันจะต้องดูแลควบคู่กันไปกับการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ และเหมาะสมกับความต้องการทั้งในประเทศ และกับประเทศผู้ค้าด้วย

สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีราคาลดลง จากสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 รายการ ปาล์มน้ำมัน ราคาปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซียปรับตัวลดลง ซึ่ง เป็นไปตามกลไกตลาด แนวทางการกำกับดูแล ติดตามระบบการค้าในประเทศ เพื่อรักษาระดับราคาผลปาล์มให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มสู่การบริโภค

เรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาปรับลดลง เนื่องจากข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวในต้นฤดูฝนมีความชื้นสูง ในแนวทางการกำกับดูแล แนะนำ ให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับ วิธีการจัดเก็บ การเก็บรักษาเพื่อรักษาความชื้นของข้าวโพดให้อยู่ในระดับมาตรฐาน การกำกับดูแลสินค้าเกษตร ปัจจุบันได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือผลิตผลทางการเกษตร" และ“ศูนย์บริการประชาชนด้านการเกษตร" เพื่อเป็นช่องทางการให้ความร่วมมือ และการให้คำแนะนำการแก้ปัญหาต่างๆ แก่เกษตรกรในทุกจังหวัด

สำหรับผลผลิตทางการเกษตรของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ มังคุด และลองกอง ซึ่งในปีนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวนมาก และล้นตลาดนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้รายงานขอแนวทางแก้ไขขึ้นมาแล้ว คสช. กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ได้แก่ การหาหรือเพิ่มตลาด การกระจายผลผลิตไปยังพื้นที่อื่น ๆ

เรื่องปัญหาราคายางตกต่ำ สำหรับปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรสวนยางพาราประสบอยู่ในปัจจุบัน ในเรื่องปัญหาราคายางตกต่ำ เนื่องจากผลิตผลทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจากการรณรงค์การเพาะปลูกยางตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมานั้น คสช. ได้ให้ส่วนราชการเกี่ยวข้องไปพิจารณาหาแนวทาง ทั้งมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ

ด้านความมั่นคง ที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษคือการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการจัดแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมได้มอบหมายให้รองผู้บัญชาการกองทัพบกเป็นประธานฯ ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการงาน แผนงาน โครงการของ หน่วยงาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่โดยแท้จริง รวมทั้งการสร้างการรับรู้กับต่างประเทศด้วย เราจะเห็นได้จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิก OIC ครั้งที่ 41 ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ OIC ชื่นชมการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย สนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มต่าง ๆ กับไทย และเรียกร้องให้ไทยดำรงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างยั่งยืน

เรื่องสิทธิมนุษยชน วันนี้ คสช. อยากจะเรียนให้ต่างประเทศได้เข้าใจว่า เรามิได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแต่ประการใด เราไม่มีนโยบายให้เกิดกรณี การทำร้าย ทารุณอย่างรุนแรงต่อศักดิ์ศรีมนุษย์ การฆ่า การทรมาน การข่มขืน แต่ในสภาวะไม่ปกติเช่นนี้ เราคงมีความจำเป็นในบางเรื่องที่อาจจะส่งผลกระทบอยู่บ้างต่อสิทธิ์ของประชาชน เช่น การกำหนดให้สื่อมีความระมัดระวังในการเสนอข่าว ผมใช้คำว่าระมัดระวัง

การมีมาตรการสำหรับการเดินทางนอกประเทศของบางท่าน คสช. อยากจะขอให้ทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรระหว่างประเทศได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมสถานการณ์ และปกป้องประชาชนและความมั่นคงของรัฐในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูปในขณะนี้

เรื่องการส่งกลับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบทางด้านชายแดนไทย – เมียนมาร์ เรายังไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ เป็นเรื่องของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ต้องหามาตรการที่เหมาะสมและปลอดภัยให้กับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบดังกล่าว ทั้งนี้จะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายความมั่นคงหรือทหารแต่ประการใด

เรื่องโรฮิงญา ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากมีขบวนการนำพาโรฮิงญาเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมอย่างรัดกุมและชัดเจน หากไม่ดำเนินการก็จะเกิดการค้ามนุษย์ และการหลบหนีภัยจากการสู้รบที่ไม่เป็นธรรมชาติเกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไปอีก

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้รองเสนาธิการทหารบก เข้าร่วมหารือกับคณะผู้แทนองค์กรนิรโทษกรรมสากล (AI) โดยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข้อห่วงใยขององค์กรนิรโทษกรรมสากลในประเด็น สถานการณ์ความรุนแรง และการดำเนินการของ คสช. ทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้กฎอัยการศึก และการเข้าควบคุมอำนาจ ในเรื่องของการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ การเคารพในสิทธิมนุษยชน บทบาทของ คสช.หลังมีรัฐบาล การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว และผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชาวเมียนมาร์

ภายหลังการชี้แจง คณะผู้แทน AI ได้รับทราบและเข้าใจต่อสถานการณ์ในไทย และมีท่าทีเห็นด้วยและมีทัศนคติเชิงบวกต่อแนวทางการดำเนินการของ คสช. ในเรื่องสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้แทน คสช. ได้ขอความร่วมมือให้คณะผู้แทน AI ช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ของไทยในเวทีต่าง ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม คสช. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณามอบหมายให้มีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ อย่างเช่น มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงไปดำเนินการ

การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว วันนี้ คสช. ได้รับทราบปัญหาของแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีพาสปอร์ตทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้ในขณะนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการดำเนินการขอพาสปอร์ตที่ประเทศต้นทาง คือประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ได้มอบให้ฝ่ายความมั่นคง ไปหามาตรการแก้ไข โดยเร่งด่วนแล้ว ต้องขอขอบคุณทุกส่วนราชการ ที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาในห้วงที่ผ่านมา ปัจจุบันปัญหาได้รับการคลี่คลายลงแล้ว โดยผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ดำเนินการได้อย่างคล่องตัวขึ้น เจ้าของเรือประมงที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวได้มาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวไปแล้ว จำนวน 53,260 คน และเมื่อวันที่ 22 ก.ค. คสช. ได้เปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวone stop service เพิ่มเติมจนครบทั้ง 22 จังหวัดติดชายทะเลแล้ว

ด้านการศึกษา คสช. ได้เห็นชอบโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นการจัดหาอุปกรณ์ให้กับทุกโรงเรียนทั้งในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งจะยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทั่วประเทศให้พัฒนาและมีมาตรฐานเดียวกันมากยิ่งขึ้น

เรื่อง กองทุนเพื่อการศึกษา คสช. ได้พิจารณาอนุมัติขยายเวลาการดำเนินงานโครงการ กองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. ซึ่งต่อไปในปีการศึกษา 2558 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทุนประสบปัญหาหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุน เพิ่มช่องทางชำระหนี้ การจัดทำฐานข้อมูลที่ถูกต้องในระยะต่อไป

เรื่อง การเพิ่มอัตราบุคลากรทางสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่ง คสช. ได้อนุมัติอัตราเพิ่มเติมในขั้นต้น เฉพาะปีงบประมาณ 2557 จำนวน 9,074 อัตรา แยกเป็นบรรจุพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข 7,547 อัตรา และบรรจุนักศึกษาแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ และเภสัชกร จำนวน 1,527 อัตรา อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาต่อไป กระทรวงสาธารณสุขจะต้องดำเนินการตามมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐให้ครบถ้วนก่อนเสนอคำขออัตรากำลังเพิ่มมาใหม่ในครั้งต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงประเด็นสำคัญ ๆ ที่สังคมให้ความสำคัญ ในขณะนี้คือ การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย คสช. ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแปลก ที่แปลกก็มีอยู่เพียงว่า สถานการณ์ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา มีปัญหามาโดยตลอดในทุกมิติ ทั้งนักการเมือง การเข้าสู่ระบบ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การทุจริต ความไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อน จนทำให้ข้าราชการไม่สามารถปฏิบัติงานในการให้การบริการกับประชาชนได้ ผมไม่เข้าใจว่า ผู้เรียกร้องดังกล่าวเหล่านั้น มองข้ามเรื่องที่กล่าวมาไปได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ การประท้วงที่ยาวนาน มาตั้งแต่ปี 2549 2553 2556 และปี 2557 ที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่า ทำเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด คสช. ต้องการที่จะยุติและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยั่งยืน น่าจะมองเหตุผลตรงนี้มากกว่า น่าจะเข้าใจกัน และก็ไปหาว่าใครที่ทำให้เกิดสถานการณ์เหล่านั้น หากท่านมาประณามเรา ซึ่งเราจะเข้ามาแก้ไข ไม่น่าจะถูกต้องเท่าไหร่นัก ก็ขอความเป็นธรรมด้วย

การเรียกร้องผลประโยชน์ ในการแต่งตั้งบอร์ด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาล ผมพูดมาหลายครั้งแล้วก็ยังมีอยู่ ทราบแล้วว่าใครเป็นคนไปเรียกร้อง ยืนยันว่า คสช. ไม่มีทั้งสิ้น และกำลังหาวิธีการดำเนินการตามกฎหมาย ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว และผู้ที่เคยเสียเงินเสียทองให้ไป ให้เรียกคืนโดยทันที มิฉะนั้นท่านอาจจะเสียเงินเปล่า คนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ในปัจจุบันนั้น คสช. จะมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการของ คสช. ทั้งในด้านประวัติส่วนตัว ผลการปฏิบัติงาน การทุจริตคอรัปชั่น การถูกฟ้องร้อง หรืออยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง โดยจะตรวจสอบทั้งหมด มิได้รับรายชื่อมาจากผู้ใดแล้วแต่งตั้ง ไม่ใช่แบบนั้น หากแต่งตั้งไปแล้วตรวจพบมีความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี ปลดออกเช่นกัน

การเรียกร้อง บัตรสนเท่ห์ เพื่อโจมตี คสช. กองทัพบก ถือว่าเป็นการเรียกร้อง ใส่ความที่ไม่เป็นธรรม การจัดหา จัดซื้ออาวุธ สิ่งนี้ได้เรียนมาหลายครั้งแล้วว่ามีการตรวจสอบอยู่แล้ว ฉะนั้นที่ผ่านมาก่อนจะซื้ออะไรได้ มีการตรวจสอบมาทั้งสิ้น หน่วยงานของรัฐก็ถามมา คสช. ก็ตอบไป จนบางครั้งทำให้การจัดหาจัดซื้อเกิดความล่าช้าก่อนกำหนด ก็ต้องไปแก้ไขต่อไปเรื่อย ๆ เพราะ คสช. ต้องการให้ทุกคนไว้วางใจ เพราะฉะนั้นอย่าโจมตีกันอีกเลยในเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าเมื่อซื้อมาแล้วเกิดชำรุด ก็ต้องซ่อมกันต่อไป บางอย่างเราไม่ได้ผลิตเอง ไม่ได้ทำเองทั้งสิ้น บางอย่างต้องซื้อมา เพื่อทดลองใช้งาน และนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ด้วย นี่ก็เรียนมาให้ทราบเท่านั้นเอง เราก็อยากจะมีการผลิต มีการออกแบบ มีการผลิตเอง มีงบประมาณในการวิจัยพัฒนา แต่บางอย่างต้องใช้เวลานานมาก เพราะ คสช. ทำเองไม่ไหวแน่

กรณีการเรียกรับผลประโยชน์ ในโครงการที่ คสช. ได้อนุมัติไปของทุกกระทรวง ยืนยันทุกกระทรวง ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการก่อสร้าง การบริหารจัดการน้ำ การขุดลอกคูคลอง สาธารณูปโภคพื้นฐาน และอื่น ๆ และได้มีการอ้างว่า สามารถเคลียร์กับ คสช. เคลียร์กับหัวหน้า คสช. ได้ และมีการแบ่งการเรียกรับผลประโยชน์ให้กับ คสช. อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ พลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือใครก็ตาม ขอให้แจ้ง คสช. ทราบโดยทันที คสช. จะดำเนินการโดยด่วน

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต ผิดกฎหมาย ตั้งแต่เริ่มจัดทำแผนงานโครงการ จนกระทั้งถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ต่าง ๆ มีปัญหามาโดยตลอด ต้องช่วยกันดูแล ต้องทำให้โปร่งใส ตั้งแต่เรื่องการจัดทำงบประมาณ แผนงาน โครงการ การเปิดประมูลให้มีการแข่งขันโดยเสรี รอฟังเวลาเขาประกาศเชิญชวนไปแข่งขัน ก็ไป ถ้าท่านไม่ไป แล้วบอกว่าไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็คงไม่ได้ ท่านต้องไปแข่งขันสู้กับเขาโดยเสรี ปัจจุบัน คสช. มีคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน และแต่ละกระทรวง ทบวง กรม แต่ละระดับก็จะมีความรับผิดชอบตามลำดับชั้นลงไป จะต้องไม่มีเด็ดขาด ในเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์

การแก้ไขปัญหาทุจริต คอรัปชั่น เป็นนโยบายของ คสช. อยู่แล้ว ในช่วงนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยมีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐ (คตร.) เข้าตรวจสอบแผนงานโครงการที่ใช้งบประมาณมาก ๆ ของแต่กระทรวง แต่ละส่วนราชการ ก็มีอีกหลายโครงการที่มีลักษณะผิดปกติ ทั้งนี้ได้สั่งให้ทบทวน และระงับในบางกรณี รวมทั้งได้ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ได้วางรากฐานการตรวจสอบ ป้องกัน การทุจริตคอรัปชั่น และการปลูกฝัง ส่งเสริม การเป็นข้าราชการที่ดีในทุกระดับ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการสร้างมาตรการกำหนดให้ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล จริยธรรม และนำหลักการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส มาใช้ในการทำงาน ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดี ส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ ซึ่งหากทุกกระทรวง ทุกส่วนราชการ มุ่งเน้นในเรื่องนี้ ก็จะเป็นรากฐานที่ดีต่อข้าราชการไทยต่อไป

การกระจายอำนาจการบริหารราชการ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ที่มีอยู่แล้วเดิม คสช. ไม่ได้มองว่ามีปัญหาอะไรที่มากนัก มีแต่เพียงการสรรหาบุคคลในการทำหน้าที่ในเรื่องของความโปร่งใส ความมีประสิทธิภาพ ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้างเล็กน้อย ก็ต้องปฏิรูปให้เกิดความชอบธรรม เป็นธรรม และทั่วถึง ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น เราต้องอย่าลืมว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว เป็นรัฐเดียว ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ทั้งดินแดน ประชาชน การปกครอง ตามมาตรา 1 ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ และมาตราอื่น ๆ ก็ได้กำหนดไว้ ให้มีการปกครองในลักษณะส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นอยู่แล้ว เราให้ความสำคัญกับข้าราชการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องมีการยึดโยงกับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคไว้ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจไว้ หากสามารถสร้างบุคลากรทั้ง 3 ระดับให้ดีได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ ตราบใดที่มีการสอดประสานกัน เป็นการดูที่จะได้มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เติมช่องว่างที่ขาดได้ ปัญหาสำคัญอยู่ที่คน ถ้าเรามีความรู้ มีคุณภาพ เสียสละ โปร่งใส นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตนเอง และพวกพ้อง มันก็ต้องดี

กรณีที่มีการเลือกตั้ง ก่อนวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมาของส่วนท้องถิ่น ก็อนุญาตให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถประกาศผลรับรองได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผ่านการตรวจสอบเรื่องใบเหลือง ใบแดง ส่วนใดที่ยังมีปัญหาอยู่ก็ชะลอการเลือกตั้งทดแทนไปก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่ง

เรื่องนี้ คสช. ได้มอบให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กกต. จังหวัด ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีไม่กี่แห่งเป็นจำนวน 100 แห่ง ในจำนวนหลาย ๆ พันแห่งที่หมดอายุลงไปเท่านั้นเอง ขอเวลาสักเล็กน้อยก่อน

เรื่องการปรับปรุงและการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย วันนี้ได้ให้คณะที่ปรึกษาจัดตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อทำการศึกษาในเรื่องดังกล่าว คู่ขนานไปกับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหามาตรการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจในกิจการดังกล่าว ให้ได้ข้อยุติโดยรวดเร็ว และทันต่อการชะลอการประมูลเครือข่าย 4Gออกไปเป็นการชั่วคราว 1 ปี ใช้เวลาในการฟื้นฟูส่วนงานเหล่านี้ก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ทำให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อน ขอเน้นย้ำตรงนี้

เรื่องการตรวจโกดังข้าว คสช. ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินคดี ในกรณีตรวจพบความไม่โปร่งใส เพื่อจะนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการตรวจสอบดำเนินคดีของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยปัจจุบัน คณะทำงาน ได้เข้าตรวจสอบปริมาณเข้าแล้ว จำนวนโกดังทั้งสิ้น 836 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.78 จากจำนวนคลัง หรือโกดัง ทั้งหมด 1,787 แห่ง

เบื้องต้นพบว่า มีสภาพปกติ 685 แห่ง สภาพผิดปกติ 126 แห่ง เช่น เสื่อมสภาพ ชนิด ที่มาไม่ตรงตามบัญชี มีข้าวชนิดอื่นปลอมปน มีมอด ไร สิ่งเจือปน ในข้าวค่อนข้างมาก เป็นต้น

การระบายข้าว คสช. ได้ให้ความเห็นชอบ ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ซึ่งมี ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้นำเสนอ ยุทธศาสตร์ แนวทาง เป้าหมาย แผน และวิธีการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล โดยกำหนดเป้าหมายระบายข้าวในสต็อกจำนวน 18 ล้านตัน ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี แบ่งประเภทข้าวในการระบายเป็น ข้าวคุณภาพดี คุณภาพปานกลาง คุณภาพต่ำ และข้าวเสื่อมคุณภาพ ในช่องทางที่เหมาะสม เช่น การส่งออก การค้าทั่วไป การบริโภค และการแปรรูป โดยคำนึงถึงความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ การค้าข้าวภายในและต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและคำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกร รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐ สำหรับแนวทางการส่งออกข้าวจะพิจารณาในหลายช่องทาง เช่น วิธีรัฐต่อรัฐ ความร่วมมือรัฐกับเอกชนขายข้าวให้ลูกค้าต่างประเทศ การขายให้องค์กรเอกชน องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ