นายกฯ ยันเลือก สปช.แล้วเสร็จภายใน 2 ต.ค., โอดประชาชนสุข แต่คสช.ทุกข์หนัก

ข่าวการเมือง Tuesday September 23, 2014 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า คสช.ได้รับรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จำนวน 550 คนแล้ว โดยจะมีการประชุมหารือในสัปดาห์หน้า และจะคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 ต.ค. โดยย้ำว่าการพิจารณาจะไม่มีการล็อคสเป็คอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะไม่รู้จักใครในรายชื่อที่ได้รับมา ซึ่งแนวทางคัดเลือกมีคณะกรรมการสรรหาที่จะพิจารณาหาผู้ที่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ในแต่ละด้านมาให้ คสช.ตัดสินใจ

การทำหน้าที่ของ คสช.กำหนดให้มีการประชุมตามวาระปกติเดือนละ 1 ครั้งหลังจากมีการปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งจะได้ประชุมครั้งต่อไปในช่วงต้นเดือน ต.ค.คณะกรรมการที่ปรับเปลี่ยนเข้ามาจะเข้ามีส่วนช่วยในการทำงานในแต่ละด้านที่มีการแบ่งไว้ 5 กลุ่มหลักรูปแบบเดียวกับการบริหารงานของรัฐบาล โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะดูแลเกี่ยวกับงานด้านกฎหมาย ส่วนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะดูด้านแลงานเศรษฐกิจเป็นหลัก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ คสช.ได้ทยอยถ่ายโอนงานมายังรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยถือว่าอยู่ใน Roadmap ระยะที่ 2 ซึ่งการทำงานของ คสช.โดยรวมในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ถือว่า ประชาชนมีความสุขมากขึ้น แต่ คสช.หรือ รัฐบาลมีความทุกข์มากขึ้น เพราะยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก ภายใต้ระยะเวลาและข้อจำกัดบางอย่าง แต่ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินงานให้มีความต่อเนื่อง โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด รวมถึงส่งมอบงานให้รัฐบาลชุดต่อไปในวันข้างหน้า

"รัฐบาลตั้งใจดีที่จะทำงาน และยังมีอีกหลายเรื่อง อาทิ ประชาธิปไตยในแนวทางที่ถูกต้อง ลดขัดแย้ง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น...ไม่ได้รู้สึกดีใจ หรือเท่ในการมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี แทนที่จะได้พักผ่อน แต่ต้องกลับมาทำงาน และไม่เคยมีความคิดที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเพื่อกลับมาเป็นนายกฯ อีก"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติถือว่าดีขึ้นและมีความเข้าใจมากขึ้น เพียงแต่อาจยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับที่มาของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหลายครั้งตนเองก็ได้ถามกลับไปว่าหากประเทศของคุณมีเหตการณ์ทางการเมืองจะเลือกแบบไหน แต่ก็ไม่มีใครตอบ และหากมีโอกาสไปเยือนต่างประเทศก็จะชี้แจงในแนวทางนี้

ส่วนเดินทางไปลงพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น อยู่ระหว่างให้ฝ่ายมั่นคงประเมินสถานการณ์ โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร และอยากลงไปในพื้นที่ที่มีปัญหาก่อน

สำหรับกรณีที่นักวิชาการ 60 คนเรียกร้องให้เปิดเสรีการแสดงควมคิดเห็นนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ห้ามจัดการประชุมสัมมนา เพียงแต่ต้องขออนุญาตมายัง คสช.ก่อน โดยยอมรับว่าหากความเห็นใดที่เกี่ยวกับการเมืองคงไม่สามารถอนุญาตให้จัดงานได้ และที่ผานมาก็เห็นได้ชัดว่ามีการโจมตีการทำงานของ คสช. แต่ก็เชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่เกิดเหตุการณ์บานปลาย เพราะเชื่อในการทำความดีจะกลัวไม่ได้เด็ดขาด

"ถ้าจะให้เขาตีรวนรัฐบาลไปเรื่อยๆ ผมก็ทำงานไม่ได้ ยังมี 10-20 เรื่องใครจะมาทำ วันข้างหน้าท่านจะทำมาหากินกับเรื่องแบบนี้อีกหรือ หรือจะให้ต้องมาทะเลาะเบาะแว้งแล้วมาเดินขบวนกันอีก มีม็อบมาสู้กันอีกรึเปล่า ซึ่งผมก็พร้อม ถ้าจะเลือกแบบนั้นก็เลือกมา"นายกรัฐมนตรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ