ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา 15% หวังแก้หนี้นอกระบบ

ข่าวการเมือง Tuesday November 3, 2015 18:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม(ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการกำหนดลักษณะความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรากำหนดมิให้ใช้บังคับแก่สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต กำหนดอัตราโทษเพิ่มขึ้นในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

"ร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ออกประกาศเรื่องการทวงหนี้ไปแล้วก่อนหน้านี้ และตอนนี้ก็มาปรับปรุงกฎหมายเรื่องห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา โดยหลักการสำคัญ คือ ห้ามเรียกเกิน 15%" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมเสนอว่า ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา พบว่า หนี้นอกระบบมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทั้งรูปแบบพฤติกรรมการปล่อยเงินกู้ที่เอารัดเอาเปรียบฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดย ยธ.ได้ทำการศึกษาและพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน และได้ร่วมมือกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยพัฒนานโยบายการยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบรวมทั้งมีข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ

สำหรับ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว เนื้อหาของกฎหมายมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในเรื่องอัตราโทษ ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำความผิด ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

ดังนั้นเพื่อควบคุมและส่งเสริมการกู้ยืมให้เป็นไปในทางที่ควรเกิดความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อให้มีการควบคุมการกู้ยืมเงินได้อย่างเหมาะสม เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมและสร้างกระบวนการในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ