ผู้ว่า สตง. เผยผลสอบเบื้องต้นทริปฮาวายไม่พบทุจริต เป็นราคาที่เหมาะสม-ตรวจสอบได้

ข่าวการเมือง Friday October 7, 2016 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวชี้แจงการพิจารณาข้อเท็จจริงกรณีการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน-สหรัฐ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ช่วงวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ทางประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำหนังสือเชิญร่วมประชุมถึง พล.อ.ประวิตร และคณะ เพื่อติดตามความคืบหน้านโยบายการดำเนินงานด้านต่างๆ รวมทั้งพบปะกับประเทศคู่เจรจา โดยเดินทางด้วยเครื่องบินของ บมจ.การบินไทย (THAI) แบบเช่าเหมาลำ ซึ่งการบินไทยคิดค่าใช้จ่ายที่ 20.9 ล้านบาท โดยเป็นเที่ยวบินที่ทำการบินต่อเนื่องได้ 11 ชม.ไม่ต้องหยุดพักเติมน้ำมัน ขณะที่เที่ยวบินปกติมีอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยคนละ 500,000-600,000 บาท และใช้เวลาเดินทาง 16-33 ชั่วโมง ดังนั้นจึงถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและยังไม่พบประเด็นการทุจริต โดยที่ผ่านมาการเดินทางของคณะบุคคลสำคัญไปทำภารกิจต่างประเทศก็ใช้วิธีแบบเช่าเหมาลำมาแล้ว เช่น คณะของนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 และปี 2559 ที่เดินทางไปประเทศอิตาลี และรัสเซีย

คณะรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้มีผู้ร่วมเดินทางขาไปทั้งหมด 38 คน และขากลับ 41 คน ซึ่งเป็นผู้เตรียมงานล่วงหน้าเดินทางกลับมาด้วย โดยแต่ละคนต่างมีตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องไปทำ และไม่มีผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หรือพนักงานบริษัทเอกชนเดินทางไปด้วยตามที่เป็นข่าว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อผู้ที่เดินทางร่วมคณะไปด้วย เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ และคงไม่เหมาะสมที่จะนำเปิดเผยต่อสาธารณชน

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ บมจ.การบินไทย คิดที่ 20.9 ล้านบาท เป็นการคิดแบบหน่วยงานของรัฐ โดยบวกกำไรและค่าดำเนินการประมาณ 20% ส่วนที่เหลือเป็นต้นทุน ทั้งค่าเครื่อง ค่าน้ำมัน โดยค่าน้ำมันเที่ยวละ 5 ล้านบาท รวมเป็น 10 ล้านบาท ส่วนค่าอาหารประมาณ 6 แสนบาท เป็นอาหาร 4 มื้อ โดยมีที่นั่งชั้น 1 หรือเฟิร์สคลาสเพียง 9 ที่นั่งเท่านั้นที่มีการเสิร์ฟไข่ปลาคาเวียร์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบริการของการบินไทย แต่ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่ได้วางบิล เนื่องจากต้องรอสรุปค่าอาหารเที่ยวขากลับที่โหลดจากฮาวาย ซึ่งจะต้องมีดูเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก่อน

“การเดินทางโดยเที่ยวบินแบบเหมาลำ (Charter Flight) มีความจำเป็น และการเสนอราคาของการบินไทยก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ การคิดค่าน้ำมันเดินทางไปกลับประมาณ 10 ล้านบาท มีส่วนบวกกำไร ค่าใช้จ่าย 20% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ” นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อวินิจฉัยให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้งเกี่ยวกับประเด็นการใช้งบดังกล่าวว่าคุ้มหรือไม่ภายในวันที่ 10 ต.ค.59 โดย สตง.จะชี้แจงต่อ คตง.ในส่วนของข้อเท็จจริงที่หามาได้ ซึ่งจากการวินิจฉัยของ สตง. เห็นว่ากรณีการเดินทางไปปฏิบัติราชการของ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมจำนวน 38 คน ตามข้อเท็จจริง ยังไม่มีประเด็นอะไรที่เป็นข้อผิดสังเกต หรือมีความทุจริต เพราะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเดินทางทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า คตง.จะเห็นว่าอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ