สนช.ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวด ผ่าทางตันแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

ข่าวการเมือง Thursday December 29, 2016 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ สนช.พร้อมกับคณะเป็นผู้เสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 เกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยกำหนดให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พล.ต.อ.พิชิต กล่าวต่อที่ประชุม สนช.ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มีเพียงประเด็นเดียวคือ เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ที่กำหนดให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งให้เหตุผลว่าเพื่อสืบทอดและดำรงรักษาไว้ซึ่งโบราณราชประเพณี

ทั้งนี้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ยืนยันต่อที่ประชุม สนช.ว่า รัฐบาลไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการ

หลังจากนั้น สนช. ได้เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการทันที โดยสมาชิก สนช.อภิปรายให้การสนับสนุน เพราะเป็นทางออกของปัญหา และขอบคุณรัฐบาลที่มอบภาระให้ สนช. ร่วมทำหน้าที่นี้เพื่อเป็นเป็นของขวัญปีใหม่ พร้อมเสนอให้พิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งก่อนเข้าสู่การประชุม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ระบุว่า การพิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของสมาชิก และการตัดสินใจของผู้แทนของคณะรัฐมนตรี

นายสมพร เทพสิทธา สมาชิก สนช. อภิปรายว่าการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ ก็เพื่อผ่าทางตันถึงปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชขณะนี้ ส่วนนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.กล่าวว่า การแก้ไขครั้งนี้ก็เพื่อย้อนกลับไปตามกฎหมายสงฆ์เดิมที่ดีอยู่แล้ว และไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องอาวุโส

นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. กล่าวว่า การเสนอร่างพรบ.ครั้งนี้ ถือว่าการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจที่สืบเนื่องกันมา และถูกบรรจุใน พ.ร.บ.สงฆ์มาถึงสองฉบับ แล้วก็ไม่เกิดปัญหาอะไร แต่เมื่อการแก้ไขเมื่อปี 2535 และเกิดปัญหาขณะนี้นำไปสู่ทางตันวันนี้ ก็สมควรที่ สนช.จะแก้ไขเพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 และฉบับปัจจุบัน

"การที่มีพระราชทานสมณะศักดิ์ หรือ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เราไม่ได้แก้ไขพระธรรมวินัย แต่เพื่อให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อยและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น" นายมณเฑียร กล่าว

หลังจากนั้น สนช. ได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ด้วยคะแนน 184 เสียง งดออกเสียง 5 ขณะที่ สมาชิก สนช.เสนอพิจารณาวาระ 2 ทันทีโดยกรรมาธิการเต็มสภา และลงมติวาระ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับที่พ.ศ. ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 182 เสียง งดออกเสียง 6 โดยมีจำนวน สนช.เข้าประชุม 188 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ