"พล.อ.บุญสร้าง" นัดประชุมคกก.ปฏิรูปตำรวจทุกสัปดาห์ เริ่มนัดแรก 12 ก.ค.นี้ เร่งแก้ปมแต่งตั้งโยกย้าย

ข่าวการเมือง Friday July 7, 2017 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการปฏิรูปตำรวจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการฯ พร้อมทั้งฝากให้ทุกคนทำงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งตนเองและคณะกรรมการทุกคนมีความตั้งใจในการทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อบ้านเมืองให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งงานระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที คือ การบริหารงานบุคคล เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายและทำให้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่งต้องหมดไป และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ส่วนประเด็นที่เหลือก็ต้องทำให้เสร็จตามกำหนด ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการแยกงานสืบสวนสอบสวนให้เป็นอิสระ หรือเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น

ส่วนแนวทางการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ พล.อ.บุญสร้าง ระบุว่า จะเน้นการยึดหลักสายกลางและปรัชญาความพอเพียง ซึ่งงานที่ทำอาจจะไม่สมใจกับทุกคน แต่จะทำงานด้วยความรักความหวังดีกับทุกคนเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์โดยรวมให้มากที่สุด และจะพยายามให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ด้วย

"ผมเป็นทหารมีหน้าที่อะไรก็จะทำให้ดีที่สุด หวังได้รับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและพยายามทำงานให้เร็วที่สุด ให้เสร็จล่วงหน้า เรายึดทางสายกลางเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราคิดแบบสุดโต่งคงหาข้อสรุปยาก" พล.อ.บุญสร้าง กล่าว

พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ได้วางกรอบการทำงานซึ่งจะมีการนัดประชุมนัดแรกในสัปดาห์หน้า และจะมีการตั้งอนุกรรมการต่างๆ และคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อแบ่งหน้าที่การทำงาน โดยมีนำผลการศึกษาในอดีตมาประกอบการพิจารณาและหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ และจะมีประชุมทุกๆ สัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยจะมีการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพพไทย และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หมุนเวียนกันไป

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการหารือนอกรอบกับคณะกรรมการฯ เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินงาน

สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้ เมื่อมีการประกาศแต่งตั้งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีตำรวจเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ จำนวนมาก ซึ่งต้องชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วว่าต้องมีตำรวจเท่ากับผู้ที่ไม่เป็นตำรวจ ดังนั้นจึงมีตำรวจ 15 นาย และพลเรือน 15 คนเท่ากัน และคนที่เป็นประธานต้องเป็นคนเข้าใจงานของตำรวจ เข้าใจเกี่ยวกับการจัดระเบียบองค์กรและความมั่นคง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ทาบทามไปหลายคน ทั้งคนที่เป็นที่รู้จักในสังคม แต่บางท่านก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงไม่สะดวกที่จะเข้ามาทำหน้าที่ สุดท้ายได้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ มาเป็นประธาน ซึ่ง พล.อ.บุญสร้าง เป็นทหาร แต่ก็เกษียณมา 10 ปีแล้ว และมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ดี

ส่วนกรรมการอีก 5 คนเป็นโดยตำแหน่ง คือปลัดกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ดังนั้นขอกรุณาอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดความร้าวฉานว่าเอาทหารมาปฏิรูปตำรวจ และประธานก็เป็นทหารที่เกษียณมา 10 ปี และมีกรรมการที่ไม่ใช่ทหารอีกจำนวนมาก เป็นทั้งอาจารย์ นักวิชาการ และอธิการบดี

นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะเริ่มประชุมอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม ที่กองบัญชาการกองทัพไทย และจะประชุมสัปดาห์ละ 1-2 วัน โดยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนสถานที่กันไป ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะกรรมการนี้จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้น โดยในสัปดาห์หน้าจะหารือกันว่าจะมีกี่ชุดและมีใครบ้าง รวมถึงต้องมีอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น โดยให้เชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจและอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกคนมารับฟังความคิดเห็น รวมถึงประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ ด้วย

นายวิษณุ กล่าวว่า ตำแหน่งเลขานุการของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้เสนอให้ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ดังกล่าว ส่วนผู้ช่วยเลขานุการให้มาจากตำรวจฝ่ายหนึ่ง และไม่ใช่ตำรวจฝ่ายหนึ่ง พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมการฯ

นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำวิจัยเรื่องปฏิรูปตำรวจกันมาหลายครั้งจากหลายหน่วยงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้รวบรวมจากทุกฉบับทำเป็นหัวข้อแจกให้คณะกรรมการฯศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณา โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในประเด็นใหญ่ 3 ข้อ คือ 1.ประเด็นเกี่ยวกับองค์กร สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าควรสังกัดอยู่ที่ใด เช่น อยู่เช่นเดิม หรือกลับไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย หรือสังกัดกระทรวงยุติธรรม จังหวัด ท้องถิ่น หรือตั้งกระทรวง ทบวง และโครงสร้างที่มีอยู่ควรจะกระจายอย่างไร ไม่ควรกระจุก เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตลอดจนตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้ไปดูว่าควรย้ายไปที่ไหนหรือไม่

2.กระบวนการยุติธรรม ต้องพิจารณาอำนาจการสอบสวนว่าจะคงอยู่อย่างเดิม หรือแยกอย่างไร จะรวมถึงจะทำงานหรือประสานกันอย่างไร ระหว่างมหาดไทย อัยการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

3.การบริหารงานบุคคล หมายถึงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย คัดคนเข้ามาเป็นตำรวจ จะใช้ระบบอะไร หลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจเหมาะสม ทันสมัยหรือไม่ การเลื่อน ลด ปลด ย้าย วินัย การมีเครื่องแบบหรือไม่มี การโอนย้ายตำรวจไปกระทรวงอื่น เทียบตำแหน่งอย่างไร รวมถึงการจัดกำลังเสริมการทำงาน การซื้อาวุธ รวมถึงในแง่นิติวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการเสริมการทำงานของตำรวจ จะทำอย่างไรให้ทำงานร่วมงานได้กับหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม

"ทั้งหมด นายกฯ ได้เสนอแนะ จะทำตามหรือไม่ก็ได้ และนายกฯ ได้เขียนด้วยลายมือ 13 หน้า และอธิบายให้ฟัง รวมถึงให้โจทย์ไปดูด้วยว่า การแต่งตั้งโยกย้ายจะใช้อาวุโสล้วน หรืออาวุโส ผสมกับคุณงามความดีความชอบ แบ่งสัดส่วนอย่างไร ซึ่งในเรื่องอื่นช้าได้ เรื่องนี้ต้องทำก่อน และต้องเสร็จภายในปีนี้" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวถึงระยะเวลาการทำงานรวมทั้งหมด 9 เดือน แบ่งเป็น 2 เดือนแรกหารือเรื่องปัญหาทั้งหมด ต่อมาอีก 3 เดือนยกร่างกฎหมายและกำหนดกฎเกณฑ์ และ 4 เดือนสุดท้ายรับฟังความคิดเห็น แต่งเติมส่วนบกพร่อง รวมเป็น 9 เดือน ซึ่งครบอายุของคณะกรรมการชุดนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ และเห็นพ้องกับข้อเสนอต่างๆ พร้อมระบุว่า ทุกคนรู้ว่ามีโจทย์อะไรบ้าง แต่สิ่งที่คนทั้งประเทศรอคือ คำตอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯ จะไปดำเนินการ และหากมีความจำเป็นต้องใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ก็พร้อมจะดำเนินการได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ