คกก.ปฏิรูปประเทศ แจงความคืบหน้าแผนงานด้านสังคม-สาธารณสุข-สื่อมวลชน ชู"สุขภาพดี สังคมแข็งแรง สื่อสร้างสรรค์"

ข่าวการเมือง Tuesday February 20, 2018 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม มีเป้าหมายที่จะดำเนินการแก้ไขในประเด็นปัญหาสังคมที่สำคัญของประเทศ โดยจะมีการปรับปรุงระบบการออมทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีอาชีพและมีเงินใช้ในช่วงพ้นวัยทำงาน มีกองทุนเพื่อให้กู้ยืมสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และมีกฎหมายสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมภายใน 5 ปี

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงระบบความช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงวัย ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และบริการของรัฐที่ให้แก่บุคคลในแต่ละอาชีพ และส่งเสริมให้ชุมชนส่วนใหญ่มีความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การบริหารชุมชน และการบริหารทรัพยากร การจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ของชุมชน พร้อมกันนี้จะมีการจัดตั้งกลไกเพื่อนำศักยภาพของอาสาสมัครและกลุ่มพลังต่างๆ มาช่วยขับเคลื่อนให้เป็นสังคมคุณภาพตามแนวทางจิตอาสาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งนี้ในการปฏิรูปการออม สวัสดิการสังคม และการลงทุนด้านสังคมนั้น มีเป้าหมายจะลดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการสังคม และให้คนไทยมีรายได้หลังการทำงานไม่ต่ำกว่า 30% ของรายได้สุดท้าย ด้วยการส่งเสริมการออมภาคบังคับโดยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งเป็นเงินออมให้กับกลุ่มเป้าหมาย, การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการสังคมระหว่างกลุ่มบุคคลต่างๆ เช่น ข้าราชการ, ลูกจ้าง, ผู้มีอาชีพอิสระ รวมถึงการระดมทุนเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้กู้ยืมเพื่อลงทุนในบริการสาธารณะด้านสังคม นอกจากนี้ จะมีการปฏิรูปชุมชนให้เข้มแข็งด้วยการสร้างโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเพิ่มรายได้ของตนเอง ด้วยการเร่งรัดการออกกฎหมายที่สำคัญ เช่น การจัดทำ พ.ร.บ.รองรับสิทธิชุมชน, พ.ร.บ.ยุติธรรมชุมชน, การปรับปรุงกฎหมายหลักประกันธุรกิจให้เหมาะสม เป็นต้น "สิ่งที่เราหวังจะเห็นเมื่อแผนปฏิรูปสังคมเดินหน้าแล้ว นั่นคือไม่ใช่การแข่งขันกันในสังคม แต่จะต้องเป็นความร่วมมือกันภายในสังคม" นายปีติพงษ์ กล่าว นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ระบุว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศที่ตอบโจทย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สร้างความสมดุลในทุกระบบโดยคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกคนอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางการปฏิรูปประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก คือ 1.ระบบการบริหารจัดการ 2.ระบบบริการและคุ้มครองผู้บริโภค 3.ข้อมูลสนเทศและกำลังคน และ 4.ระบบการเงินการคลัง ทั้งนี้ แผนปฏิรูปจะประกอบด้วยการสร้างระบบที่มีคุณสมบัติดังนี้ 1. เข้าใจถึงความต้องการด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประชาชนแบบองค์รวม โดยพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่ไม่ต้องรอให้ประชาชนเจ็บป่วยจึงค่อยรักษา 2. ตอบโจทย์ประชาชนได้ทุกช่วงวัย ทุกระดับรายได้ ทุกกลุ่มเสี่ยง และทุกระดับการรักษา 3. ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย รวมทั้งปรับแนวคิดเรื่องการใช้สมุนไพรให้มีความยืดหยุ่น แต่ตรงตามหลักวิชาการ 4. กระจายการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขไปสู่พื้นที่ย่อยอย่างแท้จริง โดยยกระดับเขตสุขภาพที่เข้าใจความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ดีที่สุด ให้มีอำนาจในการกำหนดโยบายระดับพื้นที่และได้รับการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอเหมาะสม 5. มีเอกภาพด้านนโยบายระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความไม่กลมกลืนของระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 6. ก้าวทันและใช้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โดยประยุกต์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง เช่น การเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างหน่วยรักษาพยาบาลและหน่วยอื่น รวมทั้งภาคเอกชน 7. ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้สามารถดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อ 8. มีการจัดการด้านการเงินการคลังอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักว่าการใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นการลงทุนทางสังคมที่คุ้มค่า "สิ่งที่เราหวังจะเห็นคือ ประชานมีสุขภาวะที่ดี มีความรอบรู้เรื่องสุขภาพของตัวเอง สามารถดูแลป้องกันโรคด้วยตัวเองได้ และมีการบริการของระบบประกันสุขภาพที่เข้มแข็ง สามารถให้บริการทุกคนได้อย่างทั่วถึง" นพ.เสรี กล่าว ด้านนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้สื่อสารมวลชนเป็นเสมือนโรงเรียนของสังคมในการให้ความรู้แก่ประชาชน ปลูกฝังทัศนคติที่ดี ปลูกฝังวัฒนธรรมของชาติ เพื่อช่วยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะมีการปฏิรูปในส่วนที่สำคัญและเร่งด่วน 6 เรื่อง คือ 1.การปฏิรูปการรู้เท่าทันของประชาชน 2.แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ 3.การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ 4.การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ 5.การปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศ และระบบเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 6.การปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาค รัฐ "สิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ คือ การสร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพของการทำหน้าที่สื่อบนความรับผิดชอบกับการกำกับที่มีความชอบธรรม และการใช้พื้นที่ดิจิทัลเพื่อการสื่อสารอย่างมีจรรยาบรรณ และสื่อจะต้องเป็นโรงเรียนของสังคมในการให้ความรู้และปลูกฝังวัฒนธรรมและทัศนคติที่ดีแก่ประชาชน" นายจิรชัยกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ