นายกฯ เสนอเอกชนญี่ปุ่นร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 20, 2012 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น Keidanren และ Japan Chamber of Commerce and Industry (JCCI) จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นร่วมลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและใช้เส้นประโยชน์ทางธุรกิจจากเส้นทางคมนาคม

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ผ่านมาภาคธุรกิจญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นแกนกลางในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และจะสามารถมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนี้ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมการใช้ประโยชน์ทางธุรกิจจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นประเด็นท้าทายอีกประเด็นหนึ่งที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นจะสามารถใช้เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันในการพัฒนาจากแนวพื้นที่การคมนาคมขนส่งให้เป็นแนวพื้นที่เศรษฐกิจอย่างแท้จริง

พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และหวังเป็นอย่างว่า ภาคเอกชนญี่ปุ่นภายใต้การนำของเคดันเรนจะมีส่วนร่วมในการร่างและปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ของกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ เพื่อผลักดันให้ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับลุ่มน้ำโขงประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นในอนุภูมิภาค และต่อประชาชนของประเทศลุ่มน้ำโขง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความร่วมมือของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีให้กับรัฐบาลไทยในช่วงระหว่างและภายหลังเหตุการณ์อุทกภัย มีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการเร่งรัดกระบวนการฟื้นฟุระบบเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งโดยเร็ว โดยเฉพาะ เคดันเรน สำหรับความเชื่อมั่นที่มีให้กับประเทศไทย หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อข้อห่วงกังวลดังกล่าวของภาคเอกชนญี่ปุ่น รัฐบาลไทยได้เร่งดำเนินมาตรการฟื้นฟูประเทศจากอุทกภัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท หรือ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยคุ้มครองครัวเรือนและผู้ประกอบการรวม 1.54 ล้านราย วงเงินคุ้มครองรวม 2.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 86,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความพยายามข้างต้นของรัฐบาลไทย ได้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งประเทศญี่ปุ่นและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ