ก.เกษตรฯเร่งกระจายจุลินทรีย์ลดโรค EMS ตั้งเป้าดันผลผลิตเข้าเป้าที่ 3 แสนตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 28, 2014 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมประมงมีการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 ชนิดผง แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลมาระยะหนึ่ง โดยจุลินทรีย์ ปม.1 ที่ผลิตเป็นจุลินทรีย์ในกลุ่ม Bacillus 3 ชนิด คือ Bacillus subtilis, Bacillus megaterium และ Bacillus licheniformis ที่นำมาผสมกันตามขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการบำบัด ปรับปรุงคุณภาพน้ำและดิน โดยการละลายน้ำสาดลงไปในบ่อในขั้นตอนของการเตรียมบ่อ และยังใช้เป็นโปรไบโอติกโดยการผสมลงไปในอาหารกุ้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันและต้านทานโรคที่เกิดจากแบคทีเรียก่อโรคในกุ้งขาวแวนนาไม โดยเฉพาะเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคกุ้งตายด่วน (EMS)

รวมถึงมีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้เข้าใจถึงหลักการและวิธีการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน เกษตรกรกลับมามีความตื่นตัวที่จะใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดสิ่งแวดล้อมภายในบ่อกุ้งตามแนวทาง Green Aquaculture เป็นอย่างมาก ส่งผลให้จุลินทรีย์ชนิดผงที่กรมประมงทำการผลิต ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลได้รับจุลินทรีย์ ปม.1 สำหรับลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่มาจาก EMS อย่างทั่วถึง กรมประมงจึงได้ทำการผลิตหัวเชื้อ จุลินทรีย์ ปม.1 สูตรน้ำ เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปขยายและใช้ในฟาร์มได้โดยตรง โดยคุณสมบัติของจุลินทรีย์ ปม.1 สูตรน้ำ จะเหมือนกันกับจุลินทรีย์ ปม.1 ชนิดผง เพียงแต่มีอายุในการเก็บรักษาน้อยกว่าเท่านั้น ขณะที่วิธีการผลิตจะไม่ยุ่งยากเหมือนชนิดผง ปัจจุบันกรมประมงได้ดำเนินการนำร่องผลิตหัวเชื้อ จุลินทรีย์ ปม.1 สูตรน้ำ ไปแล้วใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ภาคตะวันออก ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจันทบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาประมงอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสุราษฎร์ธานี และจะขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2557 กรมประมงได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจุลินทรีย์ ปม.1 ทั้งสองรูปแบบในพื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเลรวม 11 แห่งทั่วประเทศ ที่จะส่งผลให้ผลผลิตโดยรวมทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าที่กรมประมงได้ประมาณการไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 320,000 ตันเป็นอย่างต่ำ

นายยุคล กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาผลผลิตกุ้งทะเลภายในประเทศลดลงเป็นอย่างมากจากการระบาดของโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ผู้ประกอบการส่งออกรวมไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบเกิดความเสียหาย เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลชะลอการลงลูกกุ้ง หรือลงลูกกุ้งในจำนวนน้อยกว่าปกติ เพราะเกรงจะเกิดความเสียหายจากโรคดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ